ประวัติศาสตร์จังหวัดยโสธร

 

      จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยโสธรเป็นเมืองเก่าแก่พอๆ กับเมืองอุบลราชธานี    กล่าวคือหลังจากท้าวทิดพรหม ท้าวคำผง ขอพระราชทานตั้งบ้านดอนมดแดงขึ้นเป็นเมืองอุบลราชธานีแล้ว บริวารอีกส่วนหนึ่งได้อพยพลงมาตามลำน้ำชี ถึงบริเวณป่าใหญ่ที่เรียกว่า "ดงผีสิงห์" หรือ          "ดงโต่งโต้น" เห็นว่าเป็นที่มีทำเลดีเพราะอยู่ใกล้ลำน้ำชี ประกอบกับมีวัดร้างและมีรูปสิงห์ จึงได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัด และตั้งหมู่บ้านขึ้น เรียกชื่อว่า "บ้านสิงห์ท่า"

      ในปีจุลศักราช ๑๑๗๙ (พ.ศ. ๒๓๕๗) เจ้าพระยาวิไชยราชขัตติยวงศา ขอพระราชทานตั้งบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเป็นเมือง พระราชทานนามว่า "เมืองยศสุนทร" หรือยโสธร มีเจ้าเมืองปกครองมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการจัดแบ่งการปกครองออกเป็นมณฑล จังหวัด และอำเภอ เมืองยศสุนทรจึงถูกลดฐานะมาเป็นอำเภอ ชื่ออำเภอยโสธร ตามชื่อที่ชาวเมืองนิยมเรียกกันมา ขึ้นตรงต่อจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่นั้นมา จนเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๑๕ จึงได้มีการแยกออกจากจังหวัดอุบลราชธานีและตั้งขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร    โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๗๐ ลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕

ปัจจุบัน จังหวัดยโสธรแบ่งการปกครองเป็น ๘ อำเภอ คือ อำเภอเมืองยโสธร อำเภอ   เลิงนกทา อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอกุดชุม อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอค้อวัง และอำเภอทรายมูล มีประชากรประมาณ ๔๘๕,๐๐๐ คน พื้นที่๔,๘๕๐ ตารางกิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๕๗๘ กิโลเมตร

ชาวยโสธรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ เป็นผู้ยึดมั่นในจารีตประเพณี ชอบทำบุญให้ทาน ซื่อสัตย์สุจริต มีสัมมาคารวะ และมีอุปนิสัยใจคอโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สิ่งที่เชิดหน้าชูตาของชาวยโสธร คือ รักความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งมีสถิติสูงสุดของประเทศ เป็นเมืองที่อนุรักษ์ประเพณี "แห่บั้งไฟ" ซึ่งมีชื่อเสียงไปถึงต่างประเทศ เป็นแหล่งผลิตหมอนขิด     ปลูกแตงโมหวาน ผลิตข้าวจ้าวมะลิส่งไปขายทั่วประเทศ จนได้รับสมญาว่า "เมืองประชาธิปไตย     บั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ" นอกจากนี้ยังมีคำเล่าลือเป็นคำจำกัดความที่แสดงถึงจุดเด่นเป็นการเฉพาะของแต่ละอำเภอทั้ง ๘ อำเภอ ของจังหวัด อันไพเราะ   สอดคล้องและสมจริง อีกว่า "คนงามมหา คนก้าวหน้ากุดชุม คนสุขุมค้อวัง คนดังลุมพุก           (คำเขื่อนแก้ว) คนสนุกเมืองยศ (เมืองยโสธร) คนทรหดเลิงนกทา คนมีค่าทรายมูล และคนคูณป่าติ้ว"

 

สถานที่ท่องเที่ยวที่ให้ความรู้ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม ได้แก่

พระธาตุอานนท์ เป็นพระธาตุบรรจุอัฐิและอังคารของพระอานนท์ ซึ่งชาวยโสธรถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมือง และเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดยโสธร  ตั้งอยู่บริเวณวัดมหาธาตุ อำเภอเมืองยโสธร

พระธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ เป็นเจดีย์สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราวศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ จากตำนานที่เล่าลือสืบกันมาว่า นายบุญมาซึ่งเป็นชาวนา ทำนาอยู่กลางทุ่งตั้งแต่เช้าจนสาย      ถึงเวลาที่แม่ต้องเอาข้าวเที่ยงมาส่งก็ยังไม่มา นายบุญมาหิวจนตาลาย เมื่อแม่เอาข้าวมาส่งเห็นก่องข้าวเล็กกลัวจะกินไม่อิ่ม ด้วยความโมโหจึงได้ทำร้ายแม่จนตาย แต่เมื่อกินข้าวอิ่มปรากฏว่าข้าวยังเหลือ    จึงสำนึกได้และได้สร้างพระธาตุก่องข้าวน้อย เพื่อล้างบาป ตั้งอยู่ที่บ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร

วนอุทยานภูหมู  เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์สวยงาม  อยู่ในเขตอำเภอเลิงนกทา  ติดต่อกับเขตอำเภอนิคมคำสร้อย  จังหวัดมุกดาหาร

สวนสาธารณพญาแถน  เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ  อยู่ริมลำห้วยทวนมีทิวทัศน์  และธรรมชาติที่สวยงาม  ร่มรื่น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองยโสธร

บ้านศรีฐาน  เป็นแหล่งผลิตหมอนขิดที่มีชื่อเสียง  ส่งไปจำหน่ายแทบทุกจังหวัด 

บ้านนาสะไมย์  เป็นแหล่งผลิตกระติบข้าวเหนียว  ทำกันทุกหลังคาเรือนส่งไปจำหน่ายในตัวเมืองจังหวัดยโสธร  และจังหวัดใกล้เคียง

 

ขนบธรรมเนียมประเพณีงานบุญ

          จากการขุดค้นพบใบเสมาหินที่บ้านตาดทอง  อำเภอเมืองยโสธร  ของคณะสำรวจโบราณคดี  กรมศิลปากร  มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า  ประชาชนชาวจังหวัดยโสธร  มีวัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่และดั้งเดิม  ตามแบบฉบับของชาวอีสานอย่างแท้จริง  ซึ่งได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจาก    บรรพบุรุษนับเป็นเวลากว่าพันปีแม้ว่าในสภาพของสังคมยุคปัจจุบันขนบธรรมเนียมประเพณีอันเก่าแก่นี้  ในบางท้องที่จะเลือนหายไป  แต่ชาวจังหวัดยโสธรส่วนใหญ่ยังคงยึดถือและปฏิบัติอย่างสืบเนื่องต่อกันมาหลายชั่วอายุคน  การยึดมั่นในการประกอบคุณงามความดีของชาวเมืองยโสธรนี้  จะพบได้ทุกหนแห่งและฤดูกาล  และกระทำกันมิได้ขาดทุกเดือน  แสดงให้เห็นถึงว่าชาวจังหวัดยโสธร  เป็นผู้ที่มีน้ำใจโอบอ้อมอารี  มีความสามัคคี  เสียสละซื่อสัตย์  ชอบสนุกสนานและทำบุญทำทาน  ประเพณีงานบุญ   ที่ประชาชนชาวจังหวัดยโสธร  ถือปฏิบัติมาตราบเท่าทุกวันนี้  โดยไม่เปลี่ยนแปลงคืองานบุญ ๑๒ เดือน  ดังต่อไปนี้

          บุญเดือนอ้าย  ทำบุญคูณลาน  ข้าวเม่า  ข้าวหลาม  จะทำกันหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จใหม่  เป็นการฉลองลานนวดข้าว 

          บุญเดือนยี่  ทำบุญฉลองกองข้าว  บุญคุ้มข้าวใหญ่  ทำหลังจากนวดข้าวเสร็จกองไว้ที่ลานข้าว  เพื่อฉลองกองข้าวที่อุดมสมบูรณ์

          บุญเดือนสาม  ทำบุญข้าวจี่  บางบ้านเรียกว่า " บุญคุ้ม "  แต่ละคุ้มจะกำหนดวันบุญเลี้ยงพระกลางบ้าน  ตอนเย็นก็จัดเตรียมข้าวปลา  อาหารไว้รับเลี้ยงพี่น้องและเพื่อนฝูงที่มาเยี่ยมพบปะสังสรรค์ร้องรำทำเพลง  บางคุ้มก็เรี่ยไรเงินถวายวัดต่าง ๆ หรือบางคุ้มก็จัดมหรสพตอนกลางคืน  เป็นที่สนุกสนานครึกครื้นยิ่ง

          บุญเดือนสี่  ทำบุญมหาชาติหรือบุญพระเวส  จัดทำทุกวัดตามหมู่บ้านต่าง ๆ มีการเทศน์มหาชาติ  โดยนิมนต์พระจากหมู่บ้านใกล้เคียงมาเทศน์ตามกัณฑ์ที่นิมนต์ไว้

          บุญเดือนห้า  ทำบุญตรุษสงกรานต์ บางที่เรียกว่า "บุญเนา" สรงน้ำพระ  รดน้ำญาติผู้ใหญ่ บ้างก็รวมกลุ่มสาดน้ำตามคุ้มต่างๆ บางกลุ่มก็จัดข้าวปลาสุราอาหารไปรับประทานกันตามชายทุ่ง   ชายป่า หรือบริเวณหาดทรายริมแม่น้ำ ร้องรำทำเพลง ลงเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน

บุญเดือนหก  ทำบุญบั้งไฟ เป็นงานบุญประเพณีอันเก่าแก่ของชาวอีสาน มีมาแต่โบราณกาล เป็นพิธีสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุจุฬามณีบนดาวดึงส์พิภพ  และถือว่าเป็นพิธีขอฝนจากพญาแถนให้มีฝนตกต้องตามฤดูกาล ชาวนาจะได้ลงมือทำนาทำไร่ พอถึงเดือนนี้ของทุกปี ในท้องถิ่นจะจัดงานบุญบั้งไฟต่อเนื่องกันมา ถือเป็นประเพณีอันสำคัญของหมู่บ้าน โดยเฉพาะการจัดงานที่จังหวัดถือว่าเป็นการจัดงานบุญบั้งไฟระดับชาติ โดยได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในทุกๆ ปี จะมีนักท่องเที่ยวจากทุกภาคของประเทศตลอดจนชาวต่างประเทศมาร่วมชมงานนี้เป็นจำนวนมาก

บุญเดือนเจ็ด ทำบุญบวชนาค ชาวจังหวัดยโสธรนิยมให้บุตรหลานของตนอุปสมบทเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย อันเป็นหลักปฏิบัติตนให้เป็นคนดี และเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาและผู้มีพระคุณ ในปีหนึ่งๆ จะมีการบวชนาคตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก

บุญเดือนแปด  ทำบุญปุริมพรรษาชาวบ้านในทุกคุ้ม และทุกหมู่บ้านจะจัดทำเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน น้ำมัน ยารักษาโรค และจตุปัจจัยอื่นๆ เพื่อนำไปถวายพระตามวัดต่างๆ ในหมู่บ้าน

บุญเดือนเก้า ทำบุญข้าวประดับดิน ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เพื่อบุญอุทิศให้แก่ญาติพี่น้องที่ ล่วงลับไปแล้วในวันนี้ ทุกบ้านเรือนจะจัดทำข้าวต้มมัด ขนม เพื่อใส่บาตรพระในตอนเช้า

บุญเดือนสิบ  ทำบุญข้าวกระยาสาตร เป็นการประกอบบุญกุศลเป็นทานมัยบุญกิริยาวัตถุ คือบุญที่สำเร็จขึ้นด้วยการทานอย่างหนึ่ง ทุกบ้านเรือนจะจัดทำข้าวต้มมัด ขนม ใส่บาตรพระ จัดอาหารทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐

บุญเดือนสิบเอ็ด  ทำบุญออกพรรษาในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือน ๑๑ ชาวบ้านจะจัดหาอาหารคาวหวานเพื่อไปทำบุญร่วมกัน ตกกลางคืนทำดอกไม้ธูปเทียนหากวัดหมู่บ้านใดที่อยู่ริมน้ำก็มีการลอยกระทงหรือปล่อยเรือไฟเพื่อเป็นพุทธบูชา

บุญเดือนสิบสอง  ทำบุญมหากฐิน และบุญแข่งเรือ ทุกวัดในหมู่บ้านต่างๆ ที่มีพระภิกษุ จำพรรษาอยู่  ชาวบ้านจะทำกฐินทอดถวายทุกปีมิได้ขาด และเนื่องจากยโสธรตั้งอยู่ริมแม่น้ำชีมีประเพณีที่จัดทำเป็นประจำทุกปี เมื่อคราวออกพรรษาแล้วด้วยการแข่งเรือยาวของแต่ละคุ้มและ     เชิญเรือยาวจังหวัดข้างเคียง มาร่วมแข่งขัน

 

ทำเนียบผู้บริหาร (พ.ศ. ๒๕๑๕ - ปัจจุบัน)

๑. นายชัยทัต  สุนทรพิพิธ             พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๙

๒. นายพีระศักดิ์  สุขะพงษ์            พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๒

๓. นายกาจ  รักษ์มณี                  พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๒๒

๔. นายอรุณ  ปุสเทพ                  พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๒๓

๕. นายนพรัตน์  เวชชศาสตร์         พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๖

๖. นายจรวย  ยิ่งสวัสดิ์                 พ.ศ. ๒๕๒๖-ปัจจุบัน

รองผู้ว่าราชการจังหวัด

๑. ร.ต.  วัฒนา  สูตรสุวรรณ พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๖

๒. ร.ท. บันเทิง  ศรีจันทราพันธุ์       พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๘

๓. นายโสภณ  ชวาสกุล               พ.ศ. ๒๕๒๘-ปัจจุบัน

ปลัดจังหวัด

๑. นายณัฐพล  ไชยรัตน์               พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๖

๒. นายไพบูลย์  วัฒนาพานิช         พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๘

๓. นายนพรัตน์  เวชชศาสตร์         พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๑๙

๔. นายมนูญ  บุญยะประภัศร         พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๑

๕. นายเสถียร  หุนตระกูล             พ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๒๓

๖. ร.อ. สถาพร  เอมะสิทธิ์             พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๕

๗. นายพิสุทธิ์  ฟังเสนาะ              พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๖

๘. นายอุดม  รอดชมภู                 พ.ศ. ๒๕๒๗-ปัจจุบัน

จังหวัดสุรินทร์

. สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

สภาพและความเป็นมาในทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุรินทร์ไม่มีปรากฏเป็นหลักฐานเอกสารอันแน่นอน เพียงแต่ได้มีการจดบันทึกไว้เพียงสังเขป ซึ่งส่วนมากได้มาจากคำบอกเล่าของผู้มีอายุและเล่าต่อๆ กันมา จึงเอาความแน่นอนไม่ได้ แต่จากการสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีได้สันนิษฐานว่า พื้นที่ซึ่งเป็นภาคอีสานในปัจจุบันเคยเป็นที่อยู่ของพวกละว้าและลาว มีแว่นแคว้นอันเป็นเขตปกครองเรียกว่า “อาณาจักรฟูนัน

เมื่อนับย้อนถอยหลังเป็นระยะเวลาประมาณ ๒,๐๐๐ ปี สมัยที่ละว้ามีอำนาจปกครองอาณาจักรฟูนันนั้น คงจะได้สร้างเมืองสุรินทร์ขึ้นและต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐ พวกละว้าเสื่อมอำนาจลง ขอมเข้ามามีอำนาจแทนและตั้งอาณาจักรเจินละ หรืออิศานปุระ ส่วนพวกละว้าก็ถอยร่นไปทางทิศเหนือ ปล่อยให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่าลงเป็นจำนวนมาก จังหวัดสุรินทร์ก็คงจะทิ้งไว้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าและเป็นป่าดงอยู่ เมื่อขอมแผ่อิทธิพลและมีอำนาจครอบครองดินแดนเดิมของละว้าแล้ว ขอมได้แบ่งการปกครองออกเป็น ๓ ภาค โดยตั้งเมืองศูนย์กลางการปกครองบังคับบัญชาขึ้น ๓ เมือง คือ เมืองละโว้ (ลพบุรี) เมืองพิมาย (อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา) และเมืองสกลนคร แต่ละเมืองมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชเท่าเทียมกันและปกครองบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนครวัด อันเป็นราชธานีของขอม ซึ่งอยู่ในดินแดนเขมร

สมัยที่ขอมมีอำนาจนั้น เมืองสุรินทร์อาจเป็นดินแดนแห่งหนึ่งที่อยู่ในเส้นทางการไปมาของขอมระหว่างเขาพระวิหาร เขาพนมรุ้ง กับนครวัด นครธม ก็ได้ จึงปรากฏว่าได้มีการสร้างปราสาทหินขนาดเล็ก คำนวณอายุประมาณ ๑,๑๐๐ ปีเศษ เรียงรายอยู่ท้องที่อำเภอต่างๆ ตามชายแดนในท้องที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ โดยเฉพาะในท้องที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ มีปราสาทอยู่ริมเขาพนมดองแหรก หรือดงรัก เรียกว่าช่องตาเมือน มีปราสาทตาเมือนโต๊จ (ปราสาทตาเมือนเล็ก) ปราสาทตาเมือนธม (ปราสาทตาเมือนใหญ่) มีวิหาร ระเบียงคด สระน้ำเรียงรายอยู่รอบๆ บริเวณปราสาท นอกจากปราสาทเหล่านี้ก็มีปราสาทอื่นๆ อีกประมาณ ๒๕ แห่ง อยู่ตามท้องที่อำเภอต่างๆ ในเขตจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งสันนิษฐานว่าขอมสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักพล และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาระหว่างเดินทางจากนครวัด นครธม ข้ามเทือกเขาพนมดองแหรก หรือดงรัก มาสู่เมืองศูนย์กลางการปกครองทั้ง ๓ เมืองดังกล่าวมาแล้ว และขอมคงยึดถือเอาเมืองสุรินทร์เป็นเมืองหน้าด่านใหญ่ เพราะขอมมีราชธานีอยู่ทางด้านใต้ของเทือกเขาใหญ่ คือ เขาพนมดองแหรก หรือดงรัก เมืองสุรินทร์คงเป็นที่เหมาะสมที่จะเป็นเมืองหน้าด่านใหญ่ เมื่อข้ามเทือกเขามาสู่ที่ราบทางทิศเหนือเพื่อไปยังเมืองศูนย์กลาง คือเมืองละโว้ เมืองพิมาย และเมืองสกลนคร เพราะเมืองสุรินทร์นั้นมีกำแพงเดินและคูเมืองล้อมรอบ ๒ ชั้น เหมาะสมที่จะสร้างค่ายคูประตูหอรบเพื่อป้องกันการรุกรานของข้าศึกเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีเมืองหน้าด่านรองๆ ลงไปอีก เช่น บ้านเมืองลิ่ง (อยู่ในเขตอำเภอจอมพระปัจจุบัน) บ้านประปืด อยู่ในเขตตำบลเขวาสินรินทร์ บ้านแสลงพัน เขตตำบลแกใหญ่ บ้านสลักได อำเภอเมืองสุรินทร์ ในปัจจุบันทั้ง ๔ แห่งนี้ปรากฏร่องรอยเช่นซากกำแพงเมืองเก่าให้เห็นอยู่ ส่วนที่ยังมีสภาพสมบูรณ์กว่าแห่งอื่น คือ บ้านประปืด ตำบลเขวาสินรินทร์ ซึ่งมีกำแพงดินและคูเมือง ๒ ชั้น ให้เห็นอยู่จนปัจจุบัน

จากเมืองสุรินทร์ไปยังเมืองหน้าด่านเล็กๆ เหล่านี้แต่ก่อนเคยมีถนนดินพูนสูงประมาณ ๑ เมตร กว้างประมาณ ๑๒ เมตร ทอดออกจากกำแพงเมืองสุรินทร์ไปยังเมืองหน้าด่านเล็กดังกล่าวแล้วทุกแห่ง แต่ปัจจุบันสภาพถนนเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว

๒. สมัยกรุงศรีอยุธยา

เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง ไทยก็เริ่มมีอำนาจและเข้าครอบครองดินแดนเหล่านี้ และได้มีการอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ทางแถบตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดสุรินทร์ และในสมัยที่ขอมหมดอำนาจลงนั้น จังหวัดสุรินทร์คงมีสภาพเป็นป่าดงอยู่นาน เสมือนหนึ่งเป็นดินแดนหลงสำรวจ เพราะแม้แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหรือตอนกลาง ก็มิได้มีการบันทึกกล่าวถึงเมืองสุรินทร์แต่อย่างใด เพิ่งจะได้มีการรู้จักเมืองสุรินทร์ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาในระยะเริ่มแรกของการตั้งเมือง ซึ่งปรากฏตามหลักฐานพงศาวดารเมืองสุรินทร์ ดังต่อไปนี้

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราชอาณาจักรไทยมีอาณาเขตกว้างขวางมาก ชาวไทยพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า “ส่วย” “กวย” หรือ “กุย” ที่อาศัยในแถบเมืองอัตปือแสนแป (แสนแป) ในแคว้นจำปาศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนของราชอาณาจักรไทยโดยสมบูรณ์ (เพิ่งเสียให้ฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ หรือ ร.ศ. ๑๑๒) พวกเหล่านี้มีความรู้ความสามารถในการจับช้างป่ามาเลี้ยงไว้ใช้งาน ตลอดทั้งการจับสัตว์ป่านานาชนิด ได้พากันอพยพข้ามลำน้ำโขงมาสู่ฝั่งขวา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๐ โดยแยกกันหลายพวกด้วยกัน แต่ละพวกมีหัวหน้าควบคุมมา และมาตั้งหลักฐาน ดังนี้

พวกที่ ๑ มาตั้งหลักฐานที่บ้านเมืองที (บ้านเมืองที ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์) หัวหน้าชื่อ “เชียงปุม”

พวกที่ ๒ มาตั้งหลักฐานที่บ้านกุดหวาย หรือเมืองเตา (อำเภอรัตนบุรีปัจจุบัน) หัวหน้าชื่อ “เชียงสี” หรือ “ตากะอาม”

พวกที่ ๓ มาตั้งหลักฐานที่บ้านเมืองลิ่ง (เขตอำเภอจอมพระปัจจุบัน) หัวหน้าชื่อ “เชียงสง”

พวกที่ ๔ มาตั้งหลักฐานที่บ้านโคกลำดวน (เขตอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ) หัวหน้าชื่อ “ตากะจะ” และ “เชียงขัน”

พวกที่ ๕ มาตั้งหลักฐานที่บ้านอัจจะปะนึง หรือโคกอัจจะ (เขตอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์) หัวหน้าชื่อ “เชียงฆะ”

พวกที่ ๖ มาตั้งหลักฐานที่บ้านกุดปะไท (บ้านจารพัต อำเภอศีขรภูมิปัจจุบัน) หัวหน้าชื่อ “เชียงไชย”

ลุ พ.ศ. ๒๓๐๒ ในรัชกาลของสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ครองกรุงศรีอยุธยาราชธานี ช้างเผือกแตกโรงออกจากเมืองหลวงเข้าป่าไปทางทิศตะวันออก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามารินทร์ โปรดให้สองพี่น้องเป็นหัวหน้ากับไพร่พล ๓๐ นายออกติดตาม เมื่อสองพี่น้องกับไพร่พลติดตามมาถึงเมืองพิมายทราบจากเจ้าเมืองพิมายว่า ในดงริมเขามีพวกส่วยซึ่งชำนาญในการจับช้างและเลี้ยงช้างอยู่ หากไปสืบหาจากพวกส่วยเหล่านี้คงจะทราบเรื่อง สองพี่น้องกับไพร่พลจึงได้ติดตามไปพบเชียงสี หรือตากะอามที่บ้านกุดหวาย (อำเภอรัตนบุรีปัจจุบัน) เชียงสีจึงได้พาสองพี่น้องกับไพร่พลไปหาเชียงสงที่บ้านเมืองลิ่ง ไปหาเชียงปุมที่บ้านเมืองที ไปหาเชียงไชยที่บ้านกุดปะไท ไปหาตากะจะและเชียงขันที่บ้านโคกลำดวน และไปหาเชียงฆะที่บ้านอัจจะปะนึง

เชียงฆะได้เล่าบอกกับสองพี่น้องว่า ได้เคยเห็นช้างเผือกเชือกหนึ่งมีเครื่องประดับที่งาทั้งสองข้าง ได้พาโขลงช้างป่ามาลงเล่นน้ำที่หนองโชกตอนบ่ายๆ ทุกวัน เมื่อได้ทราบเช่นนั้นสองพี่น้องจึงได้พาหัวหน้าหมู่บ้านเหล่านั้นไปขึ้นต้นไม้ริมหนองโชกคอยดู ครั้นถึงตอนบ่ายก็เห็นโขลงช้างป่าประมาณ ๕๐ - ๖๐ เชือก เดินห้อมล้อมช้างเผือกออกจากชายป่าลงเล่นน้ำในหนอง สมจริงดังที่เชียงฆะบอกกล่าว สองพี่น้องจึงใช้พิธีกรรมทางคชศาสตร์จับช้างเผือกได้แล้ว สองพี่น้องกับไพร่พลโดยมีหัวหน้าบ้านป่าดง คือ เชียงปุม เชียงสี หรือตะกะอาม เชียงฆะ เชียงไชย ตากะจะ และเชียงขัน ได้ร่วมเดินทางไปส่งด้วย สองพี่น้องได้กราบทูลถึงการที่เชียงปุมกับพวกได้ช่วยเหลือติดตามช้างเผือกได้คืนมาและนำมาส่งถึงกรุงศรีอยุธยาด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งสุริยามรินทร์จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้

  • เชียงปุม หัวหน้าหมู่บ้านเมืองที             เป็นหลวงสุรินทรภักดี
  • ตากะจะ หัวหน้าหมู่บ้านโคกลำดวน        เป็นหลวงแก้วสุวรรณ
  • เชียงขันอยู่รวมกันกับตากะจะ              เป็นหลวงปราบ
  • เชียงฆะหัวหน้าหมู่บ้านอัจจะปะนึง        เป็นหลวงเพชร
  • เชียงสีหัวหน้าหมู่บ้านกุดหวาย          เป็นหลวงศรีนครเตา
  • เชียงไชยหัวหน้าหมู่บ้านกุดปะไท           เป็นขุนไชยสุริยงศ์

พร้อมทั้งพระราชทานตราตั้งและโปรดเกล้าฯ ให้ปกครองหมู่บ้านเดิมขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย

หลวงสุรินทรภักดีกับพวก ได้พากันเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมและได้ปกครองหมู่บ้านเดิมตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตลอดมา

พ.ศ. ๒๓๐๖ หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) ได้ขอให้เจ้าเมืองพิมายกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตย้ายจากหมู่บ้านเมืองทีไปตั้งอยู่ที่บ้านคูปะทาย หรือบ้านปะทายสมันต์ เพราะบ้านเมืองทีเป็นหมู่บ้านเล็กไม่เหมาะสม ส่วนบ้านคูปะทายหรือประทายสมันต์ (เมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน) เป็นหมู่บ้านที่กว้างใหญ่มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบถึง ๒ ชั้น เป็นชัยภูมิเหมาะสมที่จะป้องกันและต่อต้านศัตรูที่มารุกรานได้เป็นอย่างดี ประกอบทั้งเป็นแหล่งที่เหมาะสมในการอยู่อาศัย มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งสุริยามรินทร์ก็ได้ทรงอนุญาตให้ย้ายได้ หลวงสุรินทรภักดีจึงได้อพยพราษฎรบางส่วนไปอยู่ที่บ้านคูปะทาย ส่วนญาติพี่น้องชื่อ เชียงปืด เชียงเกตุ เชียงพัน นางสะดา นางแล และราษฎรส่วนหนึ่งคงอยู่ ณ หมู่บ้านเมืองทีตามเดิม

ระหว่างที่อยู่บ้านเมืองที หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) ร่วมกับญาติดังกล่าวพากันสร้างเจดีย์ ๓ ยอด สูง ๑๘ ศอก และสร้างโบสถ์พร้อมพระปฏิมา หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ซึ่งปรากฏอยู่ที่วัดเมืองทีมาจนถึงปัจจุบันนี้

เมื่อย้ายถิ่นฐานจากบ้านเมืองทีไปอยู่ที่บ้านคูปะทายแล้ว หัวหน้าหมู่บ้านทั้ง ๕ จึงได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยา โดยนำสิ่งของไปทูลเกล้าฯ ถวาย คือ ช้าง ม้า แก่นสน ยางสน ปีกนก นอระมาด (นอแรต) งาช้าง ขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง เป็นการส่งส่วยตามราชประเพณี เพราะว่าขณะนั้นบรรพบุรุษของชาวสุรินทร์จะได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนอันเป็นป่าดงทึบส่วนนี้ โดยตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่อย่างมั่นคงก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของกรุงศรีอยุธยา ยังคงถือว่าเป็นกลุ่มชนที่อยู่ในป่าดงในราชอาณาเขตเท่านั้น ซึ่งกรุงศรีอยุธยาเริ่มรู้จักก็โดยหัวหน้าหมู่บ้านได้ช่วยเหลือจับช้างเผือกคืนกรุงศรีอยุธยา และเมื่อหัวหน้าหมู่บ้านได้นำของไปทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งสุริยามรินทร์จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้หัวหน้าหมู่บ้านสูงขึ้น ดังนี้

  • หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) เป็น พระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง ยกบ้านคูปะทายเป็น “เมืองปะทายสมันต์” ให้พระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวางเป็นเจ้าเมืองปกครอง
  • หลวงเพชร (เชียงฆะ) เป็น พระสังฆบุรีศรีนครอัจจะ ยกบ้านอัจจะปะนึง หรือบ้านดงยาง เป็น “เมืองสังฆะ” ให้พระสังฆบุรีศรีนครอัจจะเป็นเจ้าเมืองปกครอง
  • หลวงศรีนครเตา (เชียงสี หรือตากะอาม) เป็นพระศรีนครเตา ยกบ้านกุดหวายเป็น “เมืองรัตนบุรี” ให้พระศรีนครเตาเป็นเจ้าเมืองปกครอง
  • หลวงแก้วสุวรรณ (ตากะจะ) เป็น พระไกรภักดีศรีนครลำดวน ยกบ้านปราสาท-สี่เหลี่ยมดงลำดวน เป็น “เมืองขุขันธ์” ให้พระไกรภักดีศรีนครลำดวนเป็นเจ้าเมืองปกครอง

การปกครองบังคับบัญชาแบ่งเป็นหมวดหมู่ เป็นกอง มีนายกอง นายหมวด นายหมู่ บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย

หัวหน้าหมู่บ้านทั้งหมดก็เดินทางกลับและปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบสุขตลอดมา

๓. สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐ - พ.ศ. ๒๓๒๕)

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงกอบกู้อิสรภาพและตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี

พ.ศ. ๒๓๒๑ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ เป็นแม่ทัพยกขึ้นไปทางเมืองพิมาย แม่ทัพสั่งให้เจ้าเมืองพิมายแต่งข้าหลวงออกมาเกณฑ์กำลังเมืองปะทายสมันต์ เมืองขุขันธ์ เมืองสังฆะ เมืองรัตนบุรี เพื่อให้เป็นกองทัพบกยกทัพไปล้อมตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองเวียงจันทน์ยอมแพ้ยอมขึ้นแก่กรุงไทย ต่อมาได้ไปตีเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ไม่ยอมต่อสู้เพราะมีกำลังทหารอ่อนแอ จึงยอมขึ้นต่อกรุงไทย กองทัพไทยจึงยกทัพกลับกรุงธนบุรี

พ.ศ. ๒๓๒๔ เมืองเขมรเกิดจลาจล สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ได้รับพระบรมราชโองการให้เป็นแม่ทัพ ยกกองทัพไปปราบปรามการจลาจลครั้งนี้ โดยเกณฑ์กำลังของเมืองปะทายสมันต์ เมืองขุขันธ์ และเมืองสังฆะ สมทบกับกองทัพหลวงด้วย การไปปราบปรามครั้งนี้กองทัพไทยเคลื่อนขบวนไปตีเมืองเสียมราฐ เมืองกำพงสวาย เมืองบรรทายเพชร เมืองบรรทายมาศ เมืองรูงตำแรย์ (ถ้ำช้าง) เมืองเหล่านี้ยอมแพ้ขอขึ้นเป็นข้าขอบขันฑสีมา เสร็จแล้วก็ยกทัพกลับกรุงธนบุรี บ้านเมืองที่ตีได้ก็กวาดต้อนพลเมืองมาบ้าง บางพวกก็อพยพมาเอง ในโอกาสนี้ได้มีลาวบราย เขมร ทางแขวงเมืองเสียมราฐ สะโตง กำพงสวาย บรรทายเพชร อพยพมาทางเมืองสุรินทร์ ออกญาแอกและนารอง พาบ่าวไพร่ขึ้นมาอยู่ที่บ้านนางรอง ออกญารินทร์เสน่หาจางวาง ออกไกรแป้น ออกญาตูม นางสาวดาม มาตไว บุตรีเจ้าเมืองบรรทายเพชร และพี่น้องบ่าวไพร่เมืองเสียมราฐได้พากันมาอยู่เมืองปะทายสมันต์ (เมืองสุรินทร์) เป็นจำนวนมาก บ้างก็แยกไปอยู่เมืองสังฆะ ไปอยู่บ้านกำพงสวาย (แขวงอำเภอท่าตูม) บ้าง ในโอกาสนี้เอง พระสุรินทรภักดี (เชียงปุม) เจ้าเมืองปะทายสมันต์ จึงจัดพิธีแต่งงานนางสาวดาม มาตไว บุตรีเจ้าเมืองบรรทายเพชรกับหลานชายชื่อ “สุ่น” (นายสุ่นเป็นบุตรของนายตี ซึ่งเป็นบุตรชายคนแรกของพระสุรินทรภักดี (เชียงปุม)) เมื่อชาวเขมรทราบว่า นางสาวดาม มาตไว ได้เป็นหลานสะใภ้ของพระสุรินทรภักดีก็พากันอพยพครอบครัวมาอยู่ด้วยเป็นจำนวนมากขึ้น ดังนี้ชาวบ้านคูปะทายหรือบ้านปะทายสมันต์ ซึ่งเป็นส่วยจึงปะปนกับเขมร และเพราะเหตุที่เขมรรุ่งเรืองมาก่อนความเป็นอยู่จึงผันแปรไปทางเขมร

เมื่อเสร็จศึกสงครามเมืองเวียงจันทน์และเมืองเขมรแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้ปูนบำเหน็จให้แก่เจ้าเมืองประทายสมันต์ เมืองขุขันธ์ และเมืองสังฆะ โดยเลื่อนบรรศักดิ์ให้เป็น “พระยา” ทั้ง ๓ เมือง

๔. สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ. ๒๓๒๕ - พ.ศ. ๒๓๕๒)

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ และตั้งกรุงเทพมหานครเป็นราชธานี

พ.ศ. ๒๓๒๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “เมืองประทายสมันต์” เป็น “เมืองสุรินทร์” ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ในการเปลี่ยนชื่อเมืองปะทายสมันต์เป็นเมืองสุรินทร์ครั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองพิมายแบ่งปันอาณาเขตให้เมืองสุรินทร์ ดังนี้

ทิศเหนือ                                 จดลำห้วยพลับพลา

ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ               ติดต่อกับแขวงเมืองรัตนบุรี ตั้งแต่แม่น้ำมูลถึงหลักหินตะวันออกบ้านโพนงอยถึงบ้านโคกหัวลาว และต่อไปยังบ้านโนนเปือย และตามคลองห้วยถึงบ้านนาดี บ้านสัจจังบรรจง ไปทางตะวันออกถึงห้วยทับทัน

ทิศตะวันออก                            จดห้วยทับทัน

ทิศตะวันตก                             ถึงลำห้วยตะโคงหรือชะโกง มีบ้านกก บ้านโคกสูง แนงทม สองชั้น และห้วยราช (ส่วนทางทิศใต้ไม่ได้บอกไว้ เพราะขณะนั้นเมืองเขมรบางส่วนได้อยู่ในความปกครองของไทย เช่น บ้านจงกัลในเขตเขมรปัจจุบัน เคยเป็นอำเภอจงกัลของไทย ขึ้นกับอำเภอสังขะ)

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๗ พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม

พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) มีบุตร ๔ คน เป็นชาย ๒ คน ชื่อ นายตี (แต็ย) และนายมี (แม็ย) เป็นหญิง ๒ คน ชื่อ นางน้อย นางเงิน เมื่อพระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) ถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ตั้งให้นายตี (แต็ย) บุตรชายคนโตเป็นพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง เจ้าเมืองสุรินทร์ต่อไป

ในปี พ.ศ. ๒๓๔๒ มีตราโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์กำลังเมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ และเมืองขุขันธ์ เมืองละ ๑๐๐ รวม ๓๐๐ เข้ากองทัพยกไปตีกองทัพพม่า ซึ่งยกมาตั้งอยู่ในเขตแขวงเมืองนครเชียงใหม่ แต่กองทัพไทยมิทันไปถึงพอได้ข่าวว่ากองทัพถอยไปแล้ว ก็โปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพกลับและได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ตี) เป็น พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์

พ.ศ. ๒๓๕๐ ทรงพระราชดำริว่าเมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ และเมืองขุขันธ์ เป็นเมืองเคยตามเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชสงครามหลายครั้ง มีความชอบมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทั้ง ๓ เมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ เลยทีเดียว มีอำนาจชำระคดีได้เอง ไม่ต้องขึ้นต่อเมืองพิมายเหมือนแต่ก่อน

พ.ศ. ๒๓๕๑ พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ตี) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ หลวงวิเศษราชา (มี หรือแม็ย) ผู้เป็นน้องชายเป็น พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ เจ้าเมืองสุรินทร์สืบต่อไป

๕. สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. ๒๓๕๒ - พ.ศ. ๒๓๙๔)

พ.ศ. ๒๓๕๔ พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (มี) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้นายสุ่น บุตรพระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ตี) เป็น พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ เจ้าเมืองสุรินทร์สืบต่อ

๖. สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๖๗ - พ.ศ. ๒๓๙๔)

ลำดับนั้น ตั้งแต่เขตแขวงเมืองจำปาศักดิ์ไปจนถึงเมืองเวียงจันทน์อยู่ในอำนาจอนุเวียงจันทน์กับเจ้าโย่ บุตรที่ครองเมืองจำปาศักดิ์ พ่อลูกทั้งสองเห็นว่ามีเขตแขวงและกำลังผู้คนมากขึ้น ก็มีใจกำเริบคิดขบถต่อกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุแต่งตั้งให้เจ้าอุปราช (สีถาน) กับเจ้าราชวงศ์เมืองเวียงจันทน์คุมกองทัพยกเข้าตีหัวเมืองรายทางเข้ามาจนถึงเมืองนครราชสีมา

ฝ่ายทางเมืองจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ (โย่) ก็เกณฑ์กำลังยกเป็นกองทัพมาตรีเมืองขุขันธ์แตก จับพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (บุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์กับพระภักดีภูธรสงครามปลัด (มานะ) พระแก้วมนตรียกกระบัตร (เทศ) กับกรมการได้ฆ่าเสีย ส่วนเมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ ได้มีการป้องกันรักษาเมืองอย่างเข้มแข็งทั้งกลางวันและกลางคืน และได้เกณฑ์กำลังไพร่พลไปสมทบกับกองทัพหลวงจนเสร็จสงคราม

พ.ศ. ๒๓๗๒ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (สุ่น) เจ้าเมืองสุรินทร์เป็นพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์

พ.ศ. ๒๓๗๒ ครั้งนั้นหัวเมืองทางฝ่ายตะวันออกยังไม่เรียบร้อยดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา ครั้งที่เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ออกไปจัดตั้งราชการทำสำมะโนครัว และตั้งกองสักอยู่ ณ กุดไผท (ซึ่งเป็นท้องที่อำเภอศีขรภูมิปัจจุบันนี้)

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (สุ่น) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม

๗. สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๙๕ - พ.ศ. ๒๔๑๑)

พ.ศ. ๒๓๙๕ ได้โปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระพิไชยราชวงษา (ม่วง) ผู้ช่วยเป็นพระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ เจ้าเมืองสุรินทร์สืบต่อมา (พระพิไชยราชวงษา (ม่วง) เป็นบุตรของพระยาสุรินทรภักดีฯ (สุ่น))

พ.ศ. ๒๔๑๑ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งพระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) เป็นพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ ให้หลวงนรินทรราชวงศา (นาก) บุตรพระยาสุรินทรฯ (สุ่น) เป็นพระไชยณรงค์ภักดี (ปลัด) ให้พระมหาดไทย (จันทร์) บุตรนายสอน หลานพระยาสุรินทรฯ (สุ่น) เป็นพระพิชัยนครบวรวุฒิ (ยกกระบัตร) รักษาราชการเมืองสุรินทร์

๘. สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑ - พ.ศ. ๒๔๕๓)

พ.ศ. ๒๔๑๒ พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งบ้านกุดไผทหรือจารพัตเป็นเมือง ขอหลวงไชยสุริยง (คำมี) บุตรหลวงไชยสุริยวงศ์ (หมื่น) กองนอกเป็นเจ้าเมือง ตำแหน่งปลัดและยกกระบัตรเมืองสังฆะว่าง ขอพระสุนทรพิทักษ์ บุตรพระปลัดคนเก่าเป็นปลัด ขอหลวงศรีสุราช ผู้หลานเป็น ยกกระบัตรเมืองสังฆะ

ครั้น ณ วันอังคาร ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ ในปีมะเส็งนั้น (พ.ศ. ๒๔๑๒) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราพระราชสีห์ตั้งบ้านกุดไผท หรือบ้านจารพัต เป็นเมืองศีขรภูมิพิไสย ตั้งให้หลวงไชยสุริยงกองนอกเป็นพระศีขรภูมานุรักษ์เจ้าเมืองขึ้นเมืองสังฆะ

ฝ่ายทางเมืองสุรินทร์ พระยาสุรินทรฯ เห็นว่าพระยาสังฆะฯ ได้ขอบ้านกุดไผทเป็นเมืองศีขรภูมิแล้ว ก็เกรงว่าพระยาสังฆะฯ จะเอาบ้านลำดวนเป็นเขตแขวงด้วย จึงได้มีใบบอกขอตั้งบ้านลำดวนเป็นเมือง ขอให้พระไชยณรงค์ภักดี (นาก) ปลัดเมืองสุรินทร์ เป็นเจ้าเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านลำดวนขึ้นเป็นเมืองนามว่า เมืองสุรพินทนิคม ให้พระปลัด (นาก) เป็นพระสุรพินทนิคมานุรักษ์ เจ้าเมืองสุรพินทนิคมขึ้นเมืองสุรินทร์มาแต่นั้น

พ.ศ. ๒๔๑๕ ฝ่ายพระยาสังฆะฯ ได้มีใบบอกขอตั้งบ้านลำพุกเป็นเมือง ขอพระมหาดไทยเมืองสังฆะเป็นเจ้าเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านลำพุกขึ้นเป็นเมืองกันทรารมย์ ตั้งให้พระมหาดไทยเป็นพระกันทรานุรักษ์ เจ้าเมืองกันทรารมย์ ขึ้นกับเมืองสังฆะ

พ.ศ. ๒๔๑๖ ทางเมืองสุรพินทนิคม พระสุรพินทนิคมานุรักษ์ เจ้าเมืองก็ถึงแก่กรรมในปีนี้ พระยาสุรินทรฯ (ม่วง) เห็นว่า หลวงพิทักษ์สุนทร บุตรพระปลัดกรมการเมืองสังฆะ ซึ่งสมัครมาอยู่เมืองสุรพินทนิคมเป็นผู้มีหลักฐานมั่นคงดี จึงได้ให้หลวงพิทักษ์สุนทรรับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองสุรพินทนิคม หลวงพิทักษ์สุนทรรับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองสุรพินทนิคมได้สามปีก็ถึงแก่กรรม แต่นั้นมาเจ้าเมืองสุรพินทนิคมว่างตลอดมา

พ.ศ. ๒๔๒๔ ฝ่ายทางเมืองจงกัล ตั้งแต่โปรดเกล้าฯ ให้หลวงสัสดี (สิน) เป็นพระวิไชยเจ้าเมืองจงกัลแล้ว พระวิไชยรับราชการได้ ๗ ปีก็ถึงแก่กรรม ครั้นมาปีนี้ เจ้าเมืองสังฆะจึงได้ให้พระสุนทรนุรักษ์ผู้หลานนำใบบอกไปกรุงเทพฯ ขอให้พระสุนทรนุรักษ์เป็นพระทิพชลสินธุ์อินทรนฤมิตร

ทางเมืองสุรินทร์ พระยาสุรินทรฯ ได้มีใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ตำแหน่งยกกระบัตรเมืองสุรินทร์ว่าง ขอพระมหาดไทยเป็นพระพิไชยนครบวรวุฒิ ยกกระบัตรเมืองสุรินทร์

พ.ศ. ๒๔๒๕ ระหว่างปีนี้ คนทางเมืองสุรินทร์ได้อพยพครอบครัวเป็นอันมากข้ามไปตั้งอยู่ฟากลำน้ำมูลข้างเหนือ มีบ้านทัพค่าย เป็นต้น พระยาสุรินทรฯ จึงได้มีใบบอกขอตั้งบ้านทัพค่ายเป็นเมือง ขอพระวิเศษราชา (ทองอิน) เป็นเจ้าเมือง วันอังคารขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านทัพค่ายเป็นเมืองชุมพลบุรี ให้พระวิเศษราชา (นัยหนึ่งว่า หลวงราชวรินทร์) (ทองอิน) เป็นพระฤทธิรณยุทธ เจ้าเมือง และโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท้าวเพชรเป็นที่ปลัดให้ท้าวกลิ่นเป็นที่ยกกระบัตร ทั้งสองคนนี้เป็นพี่ชายพระฤทธิรณยุทธ (ทองอิน) และท้าวนุด บุตรพระฤทธิรณยุทธ (ทองอิน) เป็นผู้ช่วยเมืองชุมพลบุรี พร้อมกันนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งนายปรางค์ บุตรพระยาสุรินทรฯ (ม่วง) คนหนึ่งเป็นพระสุรพินทนิคมานุรักษ์เป็นเจ้าเมืองสุรพินทนิคมแทนคนเก่าที่ถึงแก่กรรมและตำแหน่งเจ้าเมืองยังว่าง

พ.ศ. ๒๔๒๙ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ข้าหลวงใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ได้เชิญประชุมเจ้าเมืองภาคอีสานขึ้น ณ เมืองอุบล เพื่อสำรวจชายฉกรรจ์และแก้ไขระเบียบการจัดเก็บภาษีอากรในระหว่างการประชุมข้าราชการอยู่นั้น ได้รับรายงานว่าทัพฮ่อเข้าโจมตีเมืองเวียงจันทน์แตก การประชุมต้องยุติลง พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ต้องรีบระดมกำลังขึ้นไปยังเมืองหนองคายโดยด่วนเพื่อสมทบกับกองทัพเมืองนครราชสีมา ส่วนกองทัพจากกรุงเทพฯ นั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปสมทบที่เมืองหนองคายซึ่งเป็นจุดชุมพล สำหรับพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) เจ้าเมืองสุรินทร์ ได้มีคำสั่งให้ช่วยราชการอยู่ที่เมืองอุบล เพราะเจ้าเมืองและกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ต้องไปราชการทัพในครั้งนั้นด้วย พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) ช่วยราชการอยู่ที่เมืองอุบลอยู่ ๒ ปี จึงได้กลับเมืองสุรินทร์

เมื่อพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) ย่างเข้าวัยชราภาพแล้ว ไม่อาจจะปฏิบัติหน้าที่ราชการได้เต็มที่ จึงได้มอบให้นายเยียบ (บุตรชาย) ช่วยราชการเป็นการภายใน

พ.ศ. ๒๔๓๒ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ข้าหลวงใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งมีอำนาจเต็มในภาคอีสานทั้งหมด ได้แต่งตั้งใบประทวนให้ นายเยียบ เป็นพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ รักษาราชการในตำแหน่งเจ้าเมืองสุรินทร์ต่อไป แต่อยู่ได้เพียง ๒ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๓๓ ก็ถึงแก่กรรม พระยา   สุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) จึงต้องกลับมาเป็นเจ้าเมืองอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ถึงแก่กรรมในปีเดียวกันนั้นเอง

พ.ศ. ๒๔๓๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่ พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนออกไปตั้งอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์ กองหนึ่งให้เรียกว่า ข้าหลวงหัวเมืองลาวกาว

ให้เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองเชียงแตง เมืองแสนปาง เมืองสีทันดร เมืองสาลวัน เมืองอัตปือ เมืองคำทองใหญ่ เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ เมืองขุขันธ์ เมืองเดชอุดม เมืองศรีสะเกษ เมืองอุบล เมืองยโสธร เมืองเขมราฐ เมืองกมลาไสย เมืองสุวรรณภูมิ เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม เมืองใหญ่ ๒๑ เมือง เมืองขึ้น ๔๓ เมือง อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงเมืองลาวกาว

พ.ศ. ๒๔๓๕ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่ ซึ่งย้ายมาแทนพระมหาอำมาตย์ (หรุ่น) ได้ทรงแต่งตั้งให้พระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาค) น้องชายพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์ (เปลี่ยนจากเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง)

ในสมัยที่พระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาค) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์นี้เป็นยุคที่บ้านเมืองกำลังปรับปรุงระบบบริหารใหม่ ข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์มณฑลอีสานได้ทรงวางระเบียบให้มีข้าราชการจากส่วนกลางมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการทุกหัวเมือง สำหรับเมืองสุรินทร์ หลวงธนสารสุทธารักษ์ (หว่าง) เป็นข้าหลวงกำกับราชการ มีอำนาจเด็ดขาดทัดเทียมผู้ว่าราชการเมือง

พ.ศ. ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสได้ยกทัพขึ้นทางเมืองเชียงแตง เมืองสีทันดร และเมืองสมโบก ซึ่งเป็นราชอาณาจักรของไทย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ในฐานะผู้สำเร็จราชการข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสานได้รับหน้าที่ผู้อำนวยการป้องกันราชอาณาจักร ให้เกณฑ์กำลังหัวเมืองสุรินทร์ ศรีสะเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองมหาสารคาม และเมืองร้อยเอ็ด เมืองละ ๘๐๐ เมืองสุวรรณภูมิ และเมืองยโสธร เมืองละ ๕๐๐ ฝึกการรบแล้วส่งกำลังรบเหล่านี้เข้าตรึงการรุกรานของฝรั่งเศสทุกจุด สถานการณ์สงครามสงบลงในเดือนตุลาคม ๒๔๓๖ ต่างฝ่ายต่างถอนกำลังรบ กำลังรบของเมืองสุรินทร์จึงได้กลับคืนบ้านเมือง อาจกล่าวได้ว่านับแต่ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเกิดศึกสงครามจากข้าศึกนอกราชอาณาจักร ชาวสุรินทร์จะมีบทบาทในการป้องกันบ้านเมืองด้วยเสมอ

กรณีพิพาทกับฝรั่งเศสสงบลงไม่นานนัก ในปีเดียวกันนี้ พระไชยณรงค์ (บุนนาค) ผ฿ว่าราชการเมืองสุรินทร์ได้ถึงแก่อนิจกรรม โดยที่ยังมิได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ตามตำแหน่งในช่วงระยะนี้ เสด็จในกรมฯ ผู้สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ได้สั่งย้ายหลวงธนสารสุทธารักษ์ (หว่าง) และแต่งตั้งหลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์ (ล้อม) มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองสุรินทร์แทน และในปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สับเปลี่ยนข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลอีสาน โดยให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ มาดำรงตำแหน่งแทนพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ในวาระที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เดินทางกลับกรุงเทพฯ ผ่านเมืองสุรินทร์ ได้ทรงแต่งตั้งพระพิชัยนครบวรวุฒิ (จรัญ) บุตรนายสอน ซึ่งเป็นบุตรพระยาสุรินทรฯ (ตี) เป็นผู้รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์ และเมื่อเสด็จถึงกรุงเทพฯ แล้ว จึงได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระพิชัยนครบวรวุฒิ (จรัญ) เป็นพระยา   สุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์สืบต่อมา

ระหว่างนี้ ได้มีการโยกย้ายสับเปลี่ยนตัวข้าหลวงกำกับราชการโดยลำดับ กล่าวคือ หลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์ (ล้อม) มาประจำอยู่ประมาณ ๑ ปี ก็ย้ายไปอยู่จังหวัดศรีสะเกษ สับเปลี่ยนกับจมื่นวิไชยยุทธเดชาคณี (อิ่ม) จมื่นวิไชยยุทธเดชาคณี ดำรงตำแหน่งประมาณ ๑ ปี ก็ย้ายไปโดยมีหลวงวิชิตชลหาญมาดำรงตำแหน่งแทน ชั่วระยะเวลาอันสั้น กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ก็ได้ย้ายหลวงสาทรสรรพกิจมาดำรงตำแหน่งแทนในประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๘

พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (จรัญ) ถึงแก่กรรมในปีจุลศักราช ๑๒๕๗ หรือ ร.ศ. ๑๑๔ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๓๘ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ โปรดให้พระพิไชยณรงค์ภักดี (บุญจันทร์) สันนิษฐานว่าเป็นบุตรของนายพรหม (นายพรหมเป็นบุตรของพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (มี) เจ้าเมืองสุรินทร์ ลำดับที่ ๓) เป็นผู้รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์สืบต่อมา พระพิไชยณรงค์ภักดี (บุญจันทร์) ถึงแก่กรรมเมื่อ ร.ศ. ๑๒๖ หรือ พ.ศ. ๒๔๕๐ และเมื่อถึงแก่กรรมแล้วจึงไดรับสัญญาบัตรแต่งตั้งให้เป็นที่พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสาน จึงโปรดให้หลวงประเสริฐสุรินทรบาล (ตุ่มทอง) ซึ่งเป็นบุตรของพระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาค) ผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์คนที่ ๘ เป็นผู้รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์แทน แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียง ๑ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ และในต้นปี พ.ศ. ๒๔๕๑ นี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ไปรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง เป็นช่วงเวลาที่ได้มีการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดินในราชการบริหารส่วนภูมิภาค (เข้าสู่แบบเทศาภิบาล) ส่วนกลางได้เริ่มแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายปกครองมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดบ้าง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดบ้าง บุคคลแรกที่ได้รับการแต่งตั้งมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดสุรินทร์ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ คือ พระกรุงศรีบุรีรักษ์ (สุม สุมานนท์)

นับแต่ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองสุรินทร์ มีเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการเมือง     ปกครองสืบเชื้อสายต่อมา ได้มีเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการเมืองปกครองโดยลำดับ ดังนี้

  • พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) พ.ศ. ๒๓๐๓ - ๒๓๓๗
  • พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ตี) พ.ศ. ๒๓๓๗– ๒๓๕๑
  • พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (มี) พ.ศ. ๒๓๕๑ - ๒๓๕๔
  • พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (สุ่น) พ.ศ. ๒๓๕๔ - ๒๓๙๔
  • พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) พ.ศ. ๒๓๙๕ - ๒๔๓๒
  • พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (เยียบ) พ.ศ. ๒๔๓๒ - ๒๔๓๓
  • พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) พ.ศ. ๒๔๓๓ - ๒๔๓๔
  • พระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาค)                             พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๓๖
  • พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (จรัญ) พ.ศ. ๒๔๓๖ - ๒๔๓๘
  • พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (บุญจันทร์) พ.ศ. ๒๔๓๘ - ๒๔๕๐
  • พระประเสริฐสุรินทรบาล (ตุ่มทอง) พ.ศ. ๒๔๕๐ - ๒๔๕๑

รายนามข้าหลวงกำกับราชการ

  • หลวงธนสารสุทธารักษ์ (หว่าง) พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๓๖
  • หลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์ (ล้อม) พ.ศ. ๒๔๓๖ - ๒๔๓๗
  • จมื่นวิไชยยุทธเดชาคณี (อิ่ม) พ.ศ. ๒๔๓๗ - ๒๔๓๘
  • หลวงวิชิตชลหาญพ.ศ. ๒๔๓๘ - ๒๔๓๘
  • หลวงสาทรสรรพกิจ (อู๊ต) พ.ศ. ๒๔๓๘ - ๒๔๕๐

รายนามข้าหลวงและผู้ว่าราชการจังหวัด

  • พระกรุงศรีบุรีรักษ์ (สุม สุมานนท์) พ.ศ. ๒๔๕๑ - ๒๔๕๓
  • หลวงวิชิตสรไกร (ขำ ณ ป้อมเพชร) พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๔๕๔
  • พระอนันตรานุกูล (สว่าง พุกณานนท์) พ.ศ. ๒๔๕๔ - ๒๔๕๗
  • หลวงประสงค์สุขการี (เทียบ สุวรรณิน) พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๖๑
  • พระยาสำเริงนฤปการ (อนงค์ พยัคฆันตร์) พ.ศ. ๒๔๖๑ - ๒๔๖๕
  • พระนิกรจำนงค์ (จิตร ไกรฤกษ์) พ.ศ. ๒๔๖๕ - ๒๔๖๙
  • พระยาเสนานุชิต (จร ศกุนตะลักษณ์) พ.ศ. ๒๔๖๙ - ๒๔๗๐
  • พระยาปทุมเทพภักดี (ธน ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๔๗๐ - ๒๔๗๑
  • พระยาสุริยาราชวราภัย (ศิริ วิเศษโกสิน) พ.ศ. ๒๔๗๑ - ๒๔๗๖
  • พ.ต.อ.พระยาขจรธรณี (ปลั่ง โสภารักษ์) พ.ศ. ๒๔๗๖ - ๒๔๗๗
  • พระศรีพิชัยบริบาล (สวัสดิ์ ปัทมดิลก) พ.ศ. ๒๔๗๗ - ๒๔๘๑
  • หลวงนครคุนูปถัมภ์ (หยวก ไพโรจน์) พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๘๔
  • นายโฉม จงศิริพ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๙
  • ขุนไมตรีประชารักษ์ (ไมตรี ไมตรีประชารักษ์) พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๔๙๐
  • ขุนพำนักนิคมคาม (สนธิ พำนักนิคมคาม) พ.ศ. ๒๔๙๐ - ๒๔๙๒
  • นายทำนุก รัตนดิลก ณ ภูเก็ตพ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๔๙๖
  • นายเลื่อน ไขแสงพ.ศ. ๒๔๙๖ - ๒๔๙๘
  • พ.ต.อ.นิรันดร ชัยนามพ.ศ. ๒๔๙๘ - ๒๕๐๐
  • นายมานิต ปุรณพรรค์พ.ศ. ๒๕๐๐- ๒๕๐๑
  • หลวงปริวรรตวรวิจิตร (จันทร์ เจริญชัย ปริวรรตวร) พ.ศ. ๒๕๐๑ - ๒๕๐๕
  • นายคำรน สังขกรพ.ศ. ๒๕๐๕ - ๒๕๑๐
  • พล.ต.ต.วิเชียร สีมันตรพ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๓
  • นายสงัด รักษ์เจริญพ.ศ. ๒๕๑๓ - ๒๕๑๔
  • นายฉลอง วัชรากรพ.ศ. ๒๕๑๔ - ๒๕๑๕
  • นายสงวน สาริตานนท์พ.ศ. ๒๕๑๕ - ๒๕๑๗
  • นายสุธี โอบอ้อมพ.ศ. ๒๕๑๗- ๒๕๑๙
  • นายฉลอง กัลยาณมิตรพ.ศ. ๒๕๑๙- ๒๕๒๓
  • นายเสนอ มูลศาสตร์พ.ศ. ๒๔๒๓– ปัจจุบัน

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล

หลังจากจัดหน่วยราชการบริหารส่วนกลาง โดยมีกระทรวงมหาดไทย ในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศ และควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้ว การจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็มีการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่ การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือว่าเป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น การปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่งที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบเรียบร้อยและเปลี่ยนระบบการปกครอง จากประเพณีปกครองดั้งเดิมของไทย คือ ระบบกินเมืองให้หมดไป

การปกครองหัวเมืองก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ นั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่นหัวเมืองหรือประเทศราช ยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใด ก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากทางคมนาคมไปมาหาสู่ลำบาก หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ๆ ส่วนหัวเมืองอื่นๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจอย่างกว้างขวาง ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระองค์ได้จัดให้มีอำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกัน โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๗ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงสำเร็จและเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น จึงจะขอนำคำจำกัดความของ “การเทศาภิบาล” ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า

“การเทศาภิบาล” คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการ อันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินงานในส่วนภูมิภาค อันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ จึงได้แบ่งส่วนการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับดังนี้คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑล รองถัดลงไปเป็นเมืองคือจังหวัด รองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวงทบวงกรมในราชธานี และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญา ความประพฤติดี ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อย รวดเร็ว แก่ราชการและธุรกิจของประชาชนซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย”

จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล ดังนี้

การเทศาภิบาลนั้น หมายความรวมว่าเป็น “ระบบ” การปกครองอาณาเขตชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า “การปกครองส่วนภูมิภาค” ส่วน “มณฑลเทศาภิบาล” นั้น คือส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ และยังหมายความอีกว่า ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ แทนส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิมอันเป็นระบบกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลาง และริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ ก่อนการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกัน แต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังจะอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมเจ้าท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง ยากที่จะจัดระเบียบปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร ทรงพระราชดำริว่าควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว จึงได้มีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล มีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตกบัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต

การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาล การจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นต้นมา และก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับ ดังนี้

พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงานจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ และในตอนปลายนี้ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้ว จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ตให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร

พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมะลายูตะวันออกเป็นมณฑลไทรบุรี และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่าๆ ที่เหลืออยู่อีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล

พ.ศ. ๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย

พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานี และมณฑลจันทบุรี มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด

พ.ศ. ๒๔๕๐ ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษเพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้

พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด

พ.ศ. ๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัด และกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหารเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก

  • การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
  • เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
  • เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
  • รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้นและการที่ยุบมณฑล เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้

  • จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
  • อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรรมการจังหวัดนั้นได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
  • ในฐานะของคณะกรรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด

ต่อมา ได้มีการแก้ไปขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น

  • จังหวัด
  • อำเภอ

จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้งยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น

 

อาณาจักรฟูนัน จดหมายเหตุจีนเรียกประเทศเขมรโบราณว่า ฟูนัน ภาคกลางและภาคอีสานของไทย ก็เป็นอาณาจักรฟูนัน ชนชาติในประเทศเขมรก็เรียกว่าชาวฟูนัน ซึ่งเป็นพวกตระกูลมอญ-เขมร ได้แก่ ละว้า ที่สืบเชื้อสายมาเป็นเขมรโบราณ พ.ศ. ๑๐๙๓ แคว้นเจนละบกเมืองขึ้นก่อกบฏ เจ้าจิตรเสน ชิงเอากรุงโตมู (ศมภู) ได้เป็นกษัตริย์มีพระนามว่า พระเจ้ามเหนทวรมัน เรียกชื่อประเทศใหม่ว่า เจนละ พ.ศ. ๑๒๐๙ - ๑๓๔๕ อาณาจักรเจนละเกิดแตกกันเป็นสองประเทศ ทางแผ่นดินสูงตอนเหนือ ได้แก่ ภาคอีสาน และประเทศลาว เรียกว่า เจนละบก ทางแผ่นดินต่ำตอนใต้ ได้แก่ ประเทศเขมร จรดชายทะเล เรียกว่า เจนละน้ำ คล้ายกับคำที่ชาวสุรินทร์พูดว่า แขมร์กรอม แขมร์เลอร์ (เขมรต่ำ-เขมรสูง) คำว่า กรอม แปลว่า ต่ำ ใต้ ล่าง และเรียกชาวเขมรที่อยู่ในประเทศเขมรว่า แขมร์กรอม มาจนถึงปัจจุบันนี้ หลักการกลายของเสียงกรอมก็คงเป็นคำเดียวกับขอม ก็คือ เขมร สรุปว่า ภาคอีสานเคยเรียกว่าอาณาจักรเจนละบก เป็นอาณาจักรเขมรโบราณบางหัวเมืองคงรวมกับอาณาจักรเขมรตลอดสมัยกรุงสุโขทัย เช่น ในวงมณฑลอุดร นครราชสีมา จันทบุรี จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ไทยได้รบเขมรตีได้นครหลวง (นครธม) เขมรเป็นเมืองขึ้นของไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๙๕ ได้ขยายอาณาเขตไปทางตะวันออกได้ดินแดนนครราชสีมา และจันทบุรีไว้เป็นราชอาณาจักรเข้าใจว่าเมืองสุรินทร์และหัวเมืองแถบนี้รวมอยู่ในเขตราชอาณาเขตมาตั้งแต่ครั้งนั้น (จากหนังสือเรื่องแหลมอินโดจีน สมัยโบราณของเสฐียรโกเศศ ไทยในแหลมทองของ พ.อ.หลวงรณสิทธิพิชัย ประวัติศาสตร์ไทยกับเขมร ของสิริ เปรมจิตต์ หลักไทยของขุนวิจิตรมาตรา สยามกับสุวรรณภูมิ ของหลวงวิจิตรวาทการ แบบเรียนประวัติศาสตร์สยาม ของหลวงชุณห์กสิกรและคณะ

ประวัติศาสตร์จังหวัดสกลนคร

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (รวมทั้งบริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) เดิมเรียกว่า อาณาจักรโคตรบูรณ์ ซึ่งเป็นอาณาจักรของขอมสมัยเรืองอำนาจในดินแดนแถบนี้ ขอมได้ตั้งเมืองศรีโคตรบูรณ์เป็นราชธานี และได้ตั้งเมืองพิมายเป็นเมืองอุปราช หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรโคตรบูรณ์ คือ พระธาตุพนมและพระธาตุอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีในปัจจุบัน

ในดินแดนที่เป็นอาณาจักรโคตรบูรณ์ดังกล่าว เมืองหนองหานหลวงก็เป็นเมืองหนึ่งของอาณาจักรนี้ ช่วงเวลาที่มีหลักฐานประกอบการตั้งชุมชนรอบๆ หนองหานอยู่ในสมัยของขอมเรืองอำนาจดังกล่าว ปรากฏในโบราณสถานหลายแห่ง เช่น พระธาตุนารายณ์เจงเวงหรือพระธาตุนารายณ์เชงเวง พระธาตุภูเพ็ก พระธาตุดุม และสะพานขอม เป็นต้น ประกอบกับตำนานอุรังคนิทานได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในสมัยพุทธกาล กรุงอินทรปัต มีอำนาจครอบคลุมดินแดนแถบนี้ และมีเมืองหนองหานหลวงขึ้นกับกรุงอินทรปัต เมืองหนองหานหลวงเป็นเมืองเอกที่เป็นศูนย์กลางอำนาจปกครองของขอม

หลักฐานที่แสดงว่าเมืองหนองหานหลวงเป็นเมืองเอกของขอมที่ปรากฏชัดคือ ศิลปวัตถุที่พบในบริเวณแถบนี้สร้างด้วยศิลปแบบขอมทั้งสิ้น โดยใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุสำคัญ ประกอบด้วยหน้าบันชั้นมุข ฯลฯ แบบขอมซึ่งสรุปได้ว่า กลุ่มผู้คนที่อาศัยในดินแดนแถบนี้มีความรู้ในการสร้างศิลปแบบขอมเป็นอย่างดี หลักฐานที่อ้างได้ไม่เฉพาะแต่โบราณสถานเท่านั้น ในโบราณวัตถุหลายอย่าง ได้ขุดค้นพบในรอบๆ บริเวณหนองหาน ดังเช่นที่หมู่บ้านดงชน บ้านหนองสระ บ้านเหล่ามะแงว ตำบลดงชน อำเภอเมืองสกลนคร เป็นต้น

ในศิลาจารึกที่มีผู้ค้นพบและนำมาตั้งไว้ ณ วัดสุปัฏวนาราม อุบลราชธานี ได้เอ่ยถึงพระนามของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ซึ่งบรรดาปราชญ์ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นกษัตริย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของกัมพูชาซึ่งมีเดชานุภาพมาก  นับแต่รัชกาลของพระองค์เป็นต้นมา อิทธิพลของขอมได้แพร่หลายทั่วไปในอีสาน (ยกเว้นบริเวณลุ่มน้ำชี) ลัทธิศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็แพร่หลายตามลำน้ำโขงขึ้นไปจนถึงสกลนคร และอุดรธานี เมืองโบราณที่สำคัญเช่น เมืองหนองหาน-หลวง (สกลนคร) ก็คงเจริญขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖ นี้ สังเกตได้จากลักษณะผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมแบบสม่ำเสมอ สระน้ำและ ศาสนสถานที่สำคัญ คือ ปราสาทพระธาตุนารายณ์เฮงเกง และพระธาตุดุม เป็นต้น

การเข้ามามีอิทธิพลของขอมในดินแดนแถบนี้  ยังไม่ทราบว่าเข้ามามีอิทธิพลโดยลักษณะใด เช่น อาจเป็นความนิยมของเจ้าผู้ครองนครเมืองต่างๆ ที่จะรับวัฒนธรรมฮินดูเพื่อส่งเสริมบารมีแห่งฐานะความเป็นกษัตริย์ของตนเองหรืออาจตกอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมือง หรือมีความสัมพันธ์กันโดยการแต่งงานก็อาจเป็นได้

สมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงธนบุรี

หลังจากขอมเสื่อมอำนาจและหมดอิทธิพลจากดินแดนแถบนี้แล้ว ก็ไม่ปรากฏหลักฐานอะไรหลงเหลืออีกเลย เข้าใจว่าอำนาจของกรุงศรีอยุธยาอาจแผ่ไปไม่ถึงดินแดนแถบนี้ สังเกตได้จากศิลปและวัฒนธรรมของอยุธยาไม่ปรากฏให้เห็นเลย มีปรากฏให้เห็นเฉพาะอิทธิพลของขอม และอาณาจักรลานช้างเท่านั้น

ในหนังสือประวัติศาสตร์อีสาน กล่าวว่า ภายหลังรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ไปแล้ว อิทธิพลของวัฒนธรรมขอมก็ค่อยๆ เสื่อมลงในภาคอีสานไม่ค่อยปรากฏการสร้างปราสาทหินขึ้นมาแต่อย่างใด เมื่อตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก็สลายตัว อันเนื่องมาจากการแพร่หลายของพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์บรรดาปราสาทหินและศาสนสถานแต่เดิมหลายแห่งถูกเปลี่ยนให้เป็นวัดหรือพุทธสถานแทน

จากข้อความดังกล่าวข้างต้นได้สอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏในประวัติตำนานพงศาวดารเมืองสกลนครของพระยาประจันตะประเทศธานี (โง่นคำ) ที่กล่าวไว้ว่า เมื่อสิ้นพระชนม์พระยาสุวรรณภิงคารแล้ว เสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ชาวเขมรก็สมมุติกันเป็นเจ้าเมืองต่อมา เมื่อปีหนึ่งเกิดทุกขภัยคือ ฝนแล้ง ราษฎรไม่ได้ทำนาถึง ๗ ปี เกิดความอัตคัดขัดสนข้าวปลาอาหารเป็นอันมาก เจ้าเมือง กรมการ และราษฎรชาวเขมรที่อยู่ในเมืองหนองหานหลวงก็ทิ้งเมืองให้เป็นเมืองร้าง แต่จะร้างมาได้กี่ปีไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ที่ดินว่างเปล่าหลงเหลืออยู่รอบบริเวณพระธาตุ

ภายหลังขอมเสื่อมอำนาจลง บริเวณดินแดนลุ่มน้ำโขงของภาคอีสานในยุคนั้นกลับรุ่งเรืองขึ้น อันเนื่องมาจากการเจริญขึ้นของอาณาจักรลานช้างซึ่งเกิดขึ้นแทนที่อาณาจักรโคตรบูรณ์ หลักฐานที่ปรากฏว่าอาณาจักรลานช้างได้รุ่งเรืองถึงดินแดนแถบนี้ คือ พระธาตุก่องข้าวน้อย ที่บ้านตาดทอง จังหวัดยโสธร พระธาตุบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น และในสมัยต่อมาอิทธิพลของอาณาจักรลานช้างก็รุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้

หลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่า ดินแดนในบริเวณจังหวัดสกลนครในสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อเนื่องกับสมัยกรุงธนบุรีได้รับอิทธิพลของอาณาจักรลานช้างอีกประการหนึ่ง คือ ในสมัยนั้นชาวภูไท และชาวโซ่ (ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของจังหวัดสกลนคร) ได้อพยพเคลื่อนย้ายมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง การอพยพดังกล่าวเกิดขึ้นหลายรุ่น จึงทำให้ชาวภูไทและชาวโซ่อยู่กระจัดกระจายบริเวณพื้นที่ในจังหวัดนครพนมและจังหวัดสกลนคร และต่อมาก็ได้เจริญรุ่งเรืองกลายเป็น เมืองพรรณานิคม และเมืองกุสุมาลย์ ซึ่งในปัจจุบันอำเภอพรรณานิคมจะปรากฏชาวภูไทยอยู่อาศัยเป็นส่วนมาก ในขณะที่อำเภอกุสุมาลย์ในปัจจุบันก็มีชาวโซ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน

ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาและธนบุรีเป็นเมืองหลวงของไทยนั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดสกลนครโดยตรงไม่ปรากฏเรื่องราวไว้แต่อย่างใด เข้าใจว่าในสมัยอยุธยาเป็นราชธานี จังหวัดสกลนครคงเป็นชุมชนเล็กๆ ที่แทบจะไม่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เลย และคงได้รับอิทธิพลของอาณาจักรลานช้างมากกว่าอาณาจักรอยุธยาดังกล่าวแล้ว ในสมัยกรุงธนบุรีก็ไม่ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดสกลนครอยู่เลย เพียงปรากฏในพงศาวดารบางฉบับที่กล่าวถึงสงครามระหว่างกรุงธนบุรีกับอาณาจักรลานช้าง ที่กล่าวพาดพิงถึงจังหวัดนครพนมบ้างเท่านั้น เข้าใจว่าจังหวัดสกลนครในสมัยนั้นคงขึ้นอยู่กับอาณาจักรลานช้างบ้าง เป็นเมืองขึ้นของไทยบ้าง แล้วแต่ฝ่ายใดจะมีอำนาจมากกว่ากัน

แต่ได้ปรากฏหลักฐานแน่ชัดอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป

สมัยรัตนโกสินทร์

ประวัติศาสตร์ชุมชนในเขตจังหวัดสกลนคร ได้ขาดหายไปหลังจากที่ขอมหมดอำนาจลง ดังกล่าว แต่ได้ทราบหลักฐานแน่ชัดอีกครั้งหนึ่งจากเพี้ยศรีครชุม หัวหน้าปฏิบัติพระธาตุเชิงชุม เล่าสืบต่อกันมา แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าปีใด ศักราชเท่าใด และในแผ่นดินรัชสมัยใด

ในแผ่นดินสยาม จะเป็นรัชกาลที่เท่าใดไม่ปรากฏ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ อพยพครอบครัวมารักษาพระธาตุเชิงชุมอยู่หลายปี อุปฮาดได้พาครอบครัวบ่าวไพร่ขึ้นมาอยู่ในบ้านธาตุเชิงชุม พร้อมทั้งได้เกลี้ยกล่อมบ่าวไพร่ให้มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเชิงชุมหลายตำบล

พระเจ้าแผ่นดินสยาม โปรดให้ตั้งอุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์เป็นพระธานี เปลี่ยนนามเมืองหนองหานหลวงเป็นเมืองสกลทวาปี ให้พระธานีเป็นเจ้าเมือง ขึ้นแก่กรุงสยามต่อมาหลายชั่วเจ้าเมือง

ในปีพุทธศักราช ๒๓๗๐ ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์คิดขบถต่อกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม (รัชกาลที่ ๓) โปรดฯ ให้กองทัพหลวงขึ้นมาปราบปรามเมืองเวียงจันทน์  แม่ทัพได้มาตรวจราชการเมืองสกลทวาปี เจ้าเมืองกรมการเมืองสกลทวาปี ไม่ได้เตรียมกำลังทหารลูกกระสุนดินดำ เสบียงอาหารไว้ตามคำสั่งแม่ทัพ แม่ทัพเห็นว่าเจ้าเมืองสกลทวาปีขบถกระทำการขัดขืนอำนาจอาญาศึก จึงเอาตัวพระธานีเจ้าเมืองสกลทวาปี ไปประหารชีวิตเสียที่เมืองหนองไชยขาว แม่ทัพนายกองฝ่ายสยามกวาดต้อนครอบครัวลงไปอยู่เมืองกระบิลจันทคามเป็นอันมาก ยังเหลืออยู่ได้รักษาพระธาตุเชิงชุมแต่พวกเพี้ยศรีครชุมบ้านหนองเหียน บ้านจันทร์เพ็ญ บ้านอ้อมแก้ว บ้านนาเวง บ้านพาน บ้านนาดี บ้านวังยาง บ้านผ้าขาว บ้านพันนาเท่านั้น เมืองสกลนครก็เป็นเมืองร้างไม่มีเจ้าเมืองปกครองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกองทัพไทยยกไปปราบเจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์นั้น สามารถเข้าตีทัพอนุเจ้าเมือง       เวียงจันทน์จนแตกพ่าย เข้ายึดเมืองได้ เจ้าอนุหนีไปอยู่เมืองมหาชัยกองแก้ว

พ.ศ. ๒๓๗๕ กองทัพพระราชสุภาวดี ยกติดตามไปตีเมืองมหาชัยกองแก้วแตก เจ้าอนุวงศ์และพระพรหมอาษา (จุลนี)  เจ้าเมืองมหาชัยกองแก้ว หนีไปอยู่เมืองญวนและถึงแก่กรรมที่นั้น

พ.ศ. ๒๓๗๘ อุปฮาดตีเจา (ดำสาย) ราชวงศ์ (ดำ) และท้าวชินผู้น้อง ได้พาครอบครัวบ่าวไพร่มาพึ่งบรมโพธิสมภารพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ได้เข้าหาแม่ทัพที่เมืองสกลทวาปี เจ้าเมืองอุปราชและมหาสงครามแม่ทัพสั่งให้นำตัวลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งภูมิลำเนาในเมืองสกลทวาปีได้

พ.ศ. ๒๓๘๐ อุปฮาดตีเจา (ดำสาย) ป่วยถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ราชวงศ์ (ดำ) เมืองมหาชัยเป็นเจ้าเมืองสกลทวาปี ท้าวชินเป็นราชวงศ์เมืองสกลทวาปี ราชบุตร (ด่าง) เมืองกาฬสินธุ์เป็นราชบุตรเมืองสกลทวาปี

พ.ศ. ๒๓๘๑ ราชวงศ์ (ดำ) เจ้าเมืองสกลทวาปีลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งให้ราชวงศ์ (ดำ) เป็นพระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนคร เปลี่ยนนามสกลทวาปีเป็นเมืองสกลนคร และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแบ่งเขตแดนเมืองนครพนม เมืองมุกดาหาร เมืองหนองหาน ให้เป็นเขตแดนเมืองสกลนคร โดยเฉพาะต่างหากจากเมืองอื่น

การปกครองเมืองสกลนครในยุคนี้นั้น ยังคงใช้ระบอบการปกครองหัวเมืองโบราณอยู่ ผู้ปกครอง (กรมการเมือง) ประกอบด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด (อุปราช) ราชวงศ์ และราชบุตร ซึ่งแต่ละตำแหน่งมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

. เจ้าเมืองเป็นผู้ที่มีหน้าที่บังคับบัญชาสิทธิขาด สั่งราชการบ้านเมืองทั้งปวงและบังคับบัญชากรมการเมือง หรือกิจการเกี่ยวกับการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของราษฎรในแคว้นบ้านเมืองที่ปกครอง การแต่งตั้งถอดถอนคณะกรมการเมืองเป็นพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน นอกจากการแต่งตั้งถอดถอนกรมการเมืองระดับรองเท่านั้นจึงเป็นอำนาจของเจ้าเมือง

. อุปฮาด (อุปราช) สมัยต่อมาเรียกปลัดอำเภอ เป็นผู้มีหน้าที่ทำการแทนในกรณีเจ้าเมืองไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ หน้าที่โดยเฉพาะคือการปกครองทั่วไป เป็นหัวหน้าในทางที่ปรึกษาหารือข้อราชการกรมการเมืองตำแหน่งรองลงไป และเป็นผู้รวบรวมสรรพบัญชีส่วยอากร ตามที่ทางราชการกำหนดและยังทำหน้าที่ออกประกาศส่งเกณฑ์กำลังพลเมืองเพื่อทำศึกสงครามอีกด้วย

. ราชวงศ์ ต่อมาเรียกสมุหอำเภอ โดยมากมักแต่งตั้งจากเครือญาติของเจ้าเมืองแต่ไม่เสมอไป ทั้งนี้แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีหน้าที่ทำการแทนอุปฮาดในกรณีที่อุปฮาดไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ แต่หน้าที่ตามปกติแล้วเกี่ยวกับอรรถคดีตัดสินถ้อยความและควบคุมการเก็บรักษาผลประโยชน์แผ่นดินของเมือง

. ราชบุตร ต่อมาเรียก เสมียนอำเภอ มีหน้าที่ช่วยราชวงศ์ ควบคุมการเก็บรักษาผลประโยชน์แผ่นดินของเมือง และเป็นผู้นำเงินส่วยส่งเจ้าพนักงานใหญ่ในหัวเมืองเอกหรือเมืองหลวง

ส่วนอำนาจการปกครองจากกรุงเทพฯ มีการควบคุมหัวเมืองเล็กเมืองน้อยพอสรุปได้ คือ

๑. อนุมัติการตั้งเมือง และอนุมัติการขอขึ้นกับเมืองอื่นหรือกรุงเทพฯ

๒. แต่งตั้งเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร ส่วนใหญ่มักเป็นเพียงหลักการและวิธีการเท่านั้น

๓. รับแรงงานจากเลข หรือรับสิ่งของจากส่วยจากหัวเมืองเหล่านั้น

พ.ศ. ๒๓๘๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้ราชวงศ์ (อิน) ขึ้นไปเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองอื่นที่ยังขัดขืนอยู่ ราชวงศ์ (อิน) ไปเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองวังและบุตรหลานบ่าวไพร่เจ้าเมืองเป็นอันมาก กับได้ท้าวเพี้ยเมืองสูง เพี้ยบุตโคดหัวหน้าข่า กะโล้และบ่าวไพร่เข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารเป็นอันมาก

พ.ศ. ๒๓๘๗ โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวโรงกลาง พระเสนาณรงค์เป็นเจ้าเมืองพรรณานิคมยกบ้านพังพร้าวเป็นเมืองพรรณานิคม ตั้งเมืองกุสุมาลย์มณฑลให้ขึ้นกับเมืองสกลนคร ให้เพี้ยเมืองสูง ข่า กะโล้ เป็นหลวงอารักษ์อาญาเจ้าเมืองกุสุมาลย์มณฑล

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๓ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวโถงเจ้าเมืองมหาชัยเป็นอุปฮาด ให้ท้าวเหม็นน้องชายอุปฮาด (โถง) เป็นราชบุตรเมืองสกลนคร

พ.ศ. ๒๓๙๖ เกิดเพลิงไหม้ในเมืองสกลนคร ทรัพย์สินเสียหายมาก ยังเหลืออยู่แต่พระเจดีย์เชิงชุมวัดธาตุศาสดาราม เจ้าเมือง กรมการพากันอพยพครอบครัวออกไปตั้งอยู่ดงบากห่างจากเมืองเดิมประมาณ ๕๐ เส้น

พ.ศ. ๒๔๐๐ ไทยโย้ย กรมการเมืองสกลนคร มีความคิดแตกแยกกันออกเป็น ๒ กลุ่ม พวกหนึ่งมีนายจารดำเป็นหัวหน้าไปร้องสมัครขอเป็นเมืองขึ้นเมืองยโสธร อีกพวกหนึ่งมีเพี้ยติ้วซ้อยเป็นหัวหน้าไปร้องขอเป็นเมืองขึ้นเมืองนครพนม รัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งนายจารดำเป็นหลวงประชาราษฎร์รักษายกบ้านกุดลิงแขวงเมืองยโสธรเป็นเมืองวานรนิวาส ให้หลวงประชาราษฎร์รักษาเป็น    เจ้าเมืองขึ้นกับเมืองยโสธร แต่เจ้าเมืองกรมการและราษฎรยังคงตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านแห่กุดชุมภูในแขวงเมืองสกลนครตามเดิม (ภายหลังเมืองวานรนิวาสเปลี่ยนการปกครองกลับมาขึ้นเมืองสกลนครตามเดิม) และโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านม่วงน้ำยามเป็นเมืองอากาศอำนวย ให้เพียงติ้วซ้ายเป็นหลวงผลานุกูลเป็นเจ้าเมือง ขึ้นกับเมืองนครพนม

พ.ศ. ๒๔๐๑ เจ้าเมือง กรมการ และราษฎรเมืองสกลนครที่ไปตั้งอยู่ที่ดงบาก เพราะอัคคีภัย พากันอพยพครอบครัวกลับภูมิลำเนาเดิม ราชวงศ์ (อิน) ถึงแก่กรรม

พ.ศ. ๒๔๐๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านโพหวาเป็นเมืองภูวดลสอาง  และให้ราชบุตร (เหม็น) เป็นพระภูวดลบริรักษ์เป็นเจ้าเมือง และโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านโพนสว่างหาดยาวริมน้ำปลาหางเป็นเมืองสว่างแดนดิน โดยให้ท้าวเทพกัลยาหัวหน้าไทยโย้ยเป็นเจ้าเมืองให้นามว่า พระสิทธิศักดิ์ประสิทธิ์ ขึ้นกับเมืองสกลนคร

ในปี พ.ศ. ๒๔๐๖ นี้เองเกิดฝนแล้งที่เมืองร้อยเอ็ดและเมืองอุบล ราษฎรต่างได้รับความอดอยาก พากันอพยพครอบครัวมาอยู่ในเขตเมืองสกลนครเป็นอันมาก เพราะเมืองสกลนครยังมีชาวในบ้านเมืองอยู่บ้าง ประกอบกับการหาของป่าพอเลี้ยงตัวไปได้

ในปีต่อมาเกิดฝนแล้งทำนาไม่ได้ในเมืองสกลนคร แต่ราษฎรก็มิได้อพยพออกไปจากเมือง อาศัยของป่าและทำนาแซง (นาปรัง) พอประทังชีวิต

ใน พ.ศ. ๒๔๑๐ ปลายรัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ปิด บุตรอุปราชตีเจา (ดำสาย) เป็นราชวงศ์ และให้ท้าวลาดบุตรอุปฮาด (โถง) เป็นราชบุตรเมืองสกลนครแทน ตำแหน่งราชวงศ์และราชบุตรที่ว่างอยู่

พ.ศ. ๒๔๑๕   ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ พวกข่ากระโล้ เมืองกุสุมาลย์ เกิดการแย่งชิงอำนาจกัน ท้าวขัตติยไทยข่ากระโล้ ขอขึ้นต่อเมืองสกลนคร โดยแยกออกจากเมืองกุสุมาลย์ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านนาโพธิ์แขวงเมืองสกลนครขึ้นเป็นเมืองโพธิไพศาลนิคม และตั้งให้ท้าวขัตติยเป็นพระไพศาลสีมานุรักษ์ เป็นผู้ปกครองเมืองต่อไป

ในปีนี้พระยาประเทศธานี เจ้าเมืองได้ขออนุมัติตั้งตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าราชการเมือง เพราะเมืองสกลนครมีเมืองขึ้นถึง ๖ เมือง จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท้าวโง่นคำเป็นพระยาศรีสกุลวงศ์ ให้เป็นผู้ช่วยราชการเมืองสกลนคร

พ.ศ. ๒๔๑๘ เกิดการจลาจลของจีนฮ่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ จึง   โปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) เป็นแม่ทัพคุมทหารกรุงเทพฯ กับไพร่พลหัวเมืองลาวไปตั้งทัพสู้ที่เมืองหนองคาย เมืองสกลนคร ได้ยกพลไปช่วย ๑,๐๐๐ คน โดยมีราชวงศ์ (ปิด) กับพระศรีสกุลวงศ์ (โง่นคำ) เป็นหัวหน้า และรบกับจีนฮ่อจนได้ชัยชนะ

พ.ศ. ๒๔๑๙ พระยาประเทศธานี (คำ) ถึงแก่กรรม เมืองสกลนครเกิดโรคระบาดร้ายแรง อุปฮาด (โถง) กับราชบุตร (ลาด) ก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคนี้ ราษฎรต่างล้มตายเป็นจำนวนมาก ทางราชการได้แต่งตั้งให้ราชวงศ์ (ปิด) เป็นผู้รักษาราชการเมือง

พ.ศ. ๒๔๒๐ โปรดเกล้าฯ ให้พระศรีสกุลวงศ์ผู้ช่วย (โง่นคำ) เป็นอุปฮาด ให้ท้าวฟองบุตรพระประเทศธานี (คำ) เป็นราชวงศ์เมืองสกลนคร และในปีต่อมาได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ราชวงศ์(ปิด) เป็นพระยาประจันตประเทศธานีเป็นเจ้าเมืองสกลนครต่อไป

ในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ รัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าให้เจ้าเมืองและกรมการเมืองสกลนคร ลงไปกรุงเทพฯ เพื่อร่วมสมโภชพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในงานนี้อุปฮาด (โง่นคำ) ได้คุมสิ่งของต่างๆ   ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในการสมโภชน์พระนครเป็นจำนวนมาก โปรดพระราชทานเหรียญสัตพรรษ์-มาลาเงินแก่เจ้าเมือง และกรมการเมืองเป็นที่ระลึก

ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ บาดหลวงอเลกซิสโปรดม ชาวฝรั่งเศส มาตั้งโรงเรียนสอนศาสนาโรมันคาทอลิกขึ้นที่บ้านท่าแร่ แขวงเมืองสกลนคร มีผู้คนเข้ารีตถือคริสต์เป็นจำนวนมาก และบาดหลวงได้สร้างวัดสร้างโบสถ์ขึ้นมากมาย ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นอำนาจทางศาสนาของบาดหลวงลดลง ราษฎรพากันออกจากศาสนาของบาดหลวงเป็นจำนวนมาก โดยมากก็คงเป็นชาวบ้านท่าแร่แห่งเดียวที่ยังนับถือศาสนาโรมันคาทอลิกจนถึงปัจจุบันนี้

พ.ศ. ๒๔๒๗ เกิดขบถจีนฮ่อที่เมืองเขียงของทุ่งเชียงคำ (ทุ่งไหหิน)      ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาราชวรานุกูลเป็นแม่ทัพคุมกองทัพไทยลาวยกไปปราบโดยตั้งทัพที่เมืองหนองคายเช่นเดิม พระยาอุปฮาด (โง่นคำ) และราชวงศ์ (ฟอง) เป็นนายทัพต่อมาได้รับข่าวว่าพระยาประจันตประเทศธานี (ปิด) เจ้าเมืองป่วยถึงแก่กรรมแม่ทัพจึงโปรดให้พระอุปฮาด (โง่นคำ) กลับมารักษาราชการบ้านเมือง

พ.ศ. ๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระอุปฮาด (โง่นคำ) เป็นพระยาประจันตประเทศธานี  ปกครองเมืองสกลนครสืบต่อมา อีก ๒ ปี ต่อมาได้       โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวเมฆบุตรราชวงศ์ (อิน) เป็นราชบุตรเมืองสกลนคร

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เสด็จขึ้นมาจัดการหัวเมืองลาวพวน และโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงหัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นมณฑลลาวพวน พระองค์ทรงเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวพวนเป็นพระองค์แรก ซึ่งระบบการปกครองแบบใหม่นี้เองที่เรียกว่าการจัดการปกครองแบบเทศาภิบาล อันหมายถึงการ “จัดให้มีข้าหลวงไปกำกับรักษาราชการตามหัวเมืองทุกเมือง” และจากนี้ต่อไปเมืองสกลนครก็จัดรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นระบอบมณฑลเทศาภิบาลสืบไป

การตั้งข้าหลวงจากส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) มาเป็นข้าหลวงรักษาราชการเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ เป็นการขยายอำนาจจากส่วนกลางเข้ามาในภาคอีสาน เริ่มตั้งแต่ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับการคุกคามของมหาอำนาจตะวันตก การที่จะรักษาไว้ซึ่งดินแดนของตนให้คงอยู่ต่อไปก็อยู่ที่การกำหนดเส้นเขตแดนของตนให้แน่นอน และเป็นการรับรองของมหาอำนาจประการหนึ่ง  การเข้ามาควบคุมหัวเมืองชั้นนอกเป็นการแสดงสิทธิของตนประการหนึ่ง และเพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีพิพาทกับมหาประเทศคู่สัญญาในหัวเมืองชั้นนอกอีกประการหนึ่งด้วย

 

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล

การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล  ซึ่งถือได้ว่าเป็นแบบการปกครองอันสำคัญที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น ระบบการปกครองแบบนี้เป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางออกไปบริหารราชการในส่วนภูมิภาค  เป็นรูปแบบของการจัดให้อำนาจการปกครองมารวมอยู่จุดเดียวกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นระบบการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ริดรอนอำนาจเจ้าเมืองตามระบอบเก่า การปกครองระบอบเทศาภิบาลอยู่ในระหว่างปี .ศ. ๒๔๓๕-๒๔๕๘

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ตำนานพงศาวดารเมืองสกลนคร ฉบับพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) ได้กล่าวถึงรูปแบบการปกครองและเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ ไว้อย่างละเอียดพอสมควร ดังพอสรุปได้ว่า

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาสุริยเดช (กาจ) มาเป็นข้าหลวงเมืองสกลนครเป็นคนแรก และข้าหลวงเมืองสกลนครพระองค์นี้ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารราชการ กล่าวคือ ให้ยกเลิกกอง เปลี่ยนเป็นหมู่บ้าน และตำบล และให้มีการเลือกผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปกครองหมู่บ้าน และตำบลด้วย

พ.ศ. ๒๔๓๖ ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวพวน เสด็จจากเมืองหนองคายมาตั้งบ้านเมืองที่ตำบลหมากแข้ง เปลี่ยนนามมณฑลลาวพวนเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ

พ.ศ. ๒๔๓๗ จ่าช่วงไฟประทีปวังซ้าย (ช่วง)  ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงเมืองสกลนคร และได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบบริหารราชการบางอย่าง คือให้ตั้งกรมเมือง กรมวัง กรมคลัง กรมนาขึ้น และได้แบ่งเขตแดนเมืองสกลนครขึ้น เมืองนครพนม เมืองหนองหาน และเมืองมุกดาหารออกจากกันอย่างชัดเจน

พ.ศ. ๒๔๓๘ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เสด็จมาตรวจราชการเมืองสกลนคร และแต่งตั้งให้นายปรีดาราช เป็นข้าหลวงเมืองสกลนคร

พ.ศ. ๒๔๓๙ นายปรีดาราช ข้าหลวงถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งนายฉลองไนย -นารถ (ไมย) เป็นข้าหลวงเมืองสกลนคร และได้เปลี่ยนแปลงให้เมืองกุสุมาลย์และเมืองโพธิไพศาลไปขึ้นกับเมืองนครพนม ให้เมืองวาริชภูมิซึ่งเป็นเมืองขึ้นเมืองหนองหานเดิมมาขึ้นกับเมืองสกลนคร

พ.ศ. ๒๔๔๐ ในปีนี้พระราชทานเงินเดือนให้ข้าราชการเมืองสกลนครเป็นปีแรก เงินเบี้ยหวัดหรือเงินปี อย่างที่จัดมาแล้วให้ยกเลิก เงินประโยชน์ต่างๆ ตลอดจนค่าฤชาธรรมเนียมต่างๆ ให้เก็บเป็นของหลวงทั้งสิ้น

พ.ศ. ๒๔๔๒ รัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าวัฒนาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลฝ่ายเหนือ เปลี่ยนชื่อมณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดร

พ.ศ. ๒๔๔๔ มีคำสั่งให้นายฉลองไนยนารถ (ไมย) กลับไปรับราชการที่มณฑลอุดร และให้หลวงพิสัยสิทธิกรรม (จีน) เป็นข้าหลวงเมืองสกลนคร

พ.ศ. ๒๔๔๕ มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครอง ถือเมืองสกลนครรวมทั้งเขตแขวงให้เรียกว่า “บริเวณสกลนคร” ข้าหลวงประจำเมืองให้เรียกข้าหลวงประจำบริเวณเปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นอำเภอ คำว่าเจ้าเมืองเป็นนายอำเภอ คำว่าอุปฮาดเป็นปลัดอำเภอ ราชวงศ์เปลี่ยนเป็นสมุหอำเภอ ราชบุตรเปลี่ยนเป็นเสมียนอำเภอ

ในปีนี้ได้ให้พระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนคร เป็นที่ปรึกษาข้าหลวงบริเวณสกลนคร เนื่องจากการเปลี่ยนระบบบริหารแผ่นดินดังกล่าวและชราภาพมากแล้ว

พ.ศ. ๒๔๔๙ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนาข้าหลวงเทศาภิบาลเสด็จกลับกรุงเทพฯ และโปรดเกล้าฯ ให้พระศรีสุริยราชวรนุวัตร (โพ) มาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอุดรแทน และในปีนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จมาตรวจราชการที่บริเวณสกลนครด้วย

พ.ศ. ๒๔๕๐ แต่งตั้งให้หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (ช่วง) มาเป็นข้าหลวงบริเวณสกลนคร  ข้าหลวงบริเวณคนเก้าให้ย้ายไปเป็นข้าหลวงบริเวณขอนแก่น

ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอุดรได้แต่งตั้งให้ขุนราชขันธ์สกลรักษ์เป็นนายอำเภอพรรณานิคม พระบริบาลศุภกิจ (คำสาย) เป็นนายอำเภอวาริชภูมิ นายทะเบียนเป็นนายอำเภอสว่างแดนดิน และพระอนุบาลสกลเขต (เล็กบริเวณ) รักษาการนายอำเภอเมือง

พ.ศ. ๒๔๕๓ ย้ายหลวงผดุงแคว้นประจันต์ ข้าหลวงบริเวณสกลนคร ไปเป็นข้าหลวงเมืองหล่มสัก และให้พระสุนธรชนศักดิ์ (สุทธิ) มาเป็นข้าหลวงบริเวณสกลนคร

ในปีนี้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๖

          การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาลได้ดำเนินการมาเรื่อยๆ และสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๔๕๘

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแบบใหม่ คือเมืองสกลนคร เปลี่ยนอำเภอเมืองให้เป็นอำเภอธาตุเชิงชุม

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

หลังจากที่ประเทศไทย ได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ในปีต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ อันเป็นแม่บทของการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบัน  เป็นการยกเลิกการจัดรูปการปกครองระบอบมณฑลเทศาภิบาลอย่างสิ้นเชิง

ในส่วนของการปกครองในส่วนภูมิภาคนั้น เริ่มจัดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบเมื่อรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๔๐ (พระราชดำริการจัดระเบียบฯ นี้ เริ่มอย่างจริงจังในปี พ.ศ. ๒๔๓๕) ซึ่งเป็นการจัดรูปการปกครองส่วนภูมิภาคแบบเทศาภิบาลดังกล่าวแล้ว และได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ช่วงระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากระบบมณฑลเทศาภิบาลนั้น (พ.ศ. ๒๔๗๖) จังหวัดสกลนครมีผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก (ก่อนนั้นเรียกข้าหลวง) คือ พระตราษบุรีสุนทรเขต และคนต่อมาคือพระบริบาลนิยมเขต

 

ที่มา : ประวัติจังหวัดสกลนคร. กรุงเทพฯ : จินดาสาส์น. ๒๕๒๘.

ประวัติศาสตร์จังหวัดศรีษะเกษ

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

จากการพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายครั้งหลายหนในระยะหลังๆ นี้ อาทิ เครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูป อัญมณีเครื่องประดับ ของใช้ประจำบ้านและเงินพดด้วง ซึ่งขุดพบใต้ฐานเจดีย์เก่าที่บ้านโนนแกด ตำบลทุ่ม อำเภอเมืองศรีสะเกษ เมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๕๒๖ และที่หลายแห่งในพื้นที่ของกิ่งอำเภอห้วยทับทัน และอำเภออื่นๆ

นักโบราณคดีได้วิเคราะห์เปรียบเทียบหลักฐานศิลปวัตถุ เช่น เจดีย์บ้านโนนแกด ซึ่งเป็นเจดีย์รูปดอกบัว ตัวเจดีย์ย่อมุมมีบัวคว่ำบัวหงาย อายุประมาณ ๑,๒๐๐-๑,๓๐๐ ปี และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหญ่มาแล้ว ๒ ครั้งหลังจากที่ได้สร้างเสร็จ ครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๐๐-๑๘๐๐ และครั้งที่ ๒ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๐๐๐-๒๑๐๐

นอกจากนั้นวัตถุโบราณอื่นๆ ที่ขุดพบ อาทิ เป็นถ้วยชาม หม้อ ไห สันนิษฐานว่า เป็นเครื่องปั้นดินเผาของชนชาติสยาม และบางส่วนเป็นศิลปะของชนชาติขอมแต่ไม่มากนัก ซึ่งอาจจะเกิดจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันระหว่างชนชาติสยามกับชนชาติขอม ประกอบกับมีปราสาทหินที่เก่าแก่หลายแห่งในจังหวัดศรีสะเกษ เช่น ปราสาทหินสระกำแพงใหญ่ ปราสาทหินสระกำแพงน้อย อำเภออุทุมพรพิสัย ธาตุหรือปรางค์บ้านปราสาท ธาตุบ้านเมืองจันทร์ อำเภอห้วยทับทันปราสาทปรางค์กู่บ้านกู่ ปราสาทบ้านสมอ อำเภอปรางค์กู่ ปราสาทเยอ ธาตุจังเกา อำเภอไพรบึงและประสาทหรือธาตุที่เก่าแก่ซึ่งยังพอมีซากปรากฏอยู่ในท้องที่อำเภอต่างๆ ของจังหวัดศรีสะะเกษและจากหลักฐานที่พบในหนังสือที่เขียนไว้เป็นภาษาขอมโบราณเป็นเรื่องราวที่กล่าวถึงการสร้างปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทบ้านกู่ อำเภอปรางค์กู่ ซึ่งสร้างในสมัยที่ขอมเรืองอำนาจเวลาไล่เลี่ยกันคือราวในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ในสมัยพระเจ้าวรมันที่ ๑ ปกครองเขมร

อาศัยหลักฐานต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวแล้วพอจะอนุมานได้ว่า พื้นที่จังหวัด

ศรีสะเกษในปัจจุบัน เป็นที่อยู่อาศัยของชนชาติสยามและขอมมาเป็นเวลาช้านานประมาณไม่ต่ำกว่า ๑,๓๐๐ ปี แต่ก็ได้มีการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเป็นครั้งคราว ซึ่งอาจจะเป็นการอพยพหลบหนีภัยน้ำ

ท่วมใหญ่หรือเกิดจากการกันดารน้ำและโรคภัยไข้เจ็บ

 

สมัยกรุงศรีอยุธยา

ชนชาติลาวซึ่งอยู่ทางเหนือ ได้แก่ เมืองศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ได้อพยพเคลื่อนย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานแย่งที่ทำกินของพวกข่า ส่วย กวย ซึ่งตั้งหลักแหล่งอาศัยทำมาหากินอยู่ตามป่าดง แขวงเมืองอัตบือแสนแป ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ประเทศลาวปัจจุบัน ชาวลาวมีสติปัญญาดีกว่าเพราะเป็นชาวเมือง มีภาษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมดีกว่าจึงมีความเจริญก้าวหน้า ลาวได้สร้างบ้าน

แปงเมืองและยกหัวหน้าขึ้นเป็นผู้ปกครองเมืองเป็นปึกแผ่นแน่นหนาจนรุ่งเรือง และสถาปนาขึ้นเป็นนครจำปาศักดิ์

เมื่อพวกส่วยถูกชาวลาวเข้ามารุกรานแย่งที่ทำกิน จึงได้รวบรวมสมัครพรรคพวกไปหาที่ทำกินแห่งใหม่ ในราว พ.ศ.๒๒๒๐ ได้มีพวกส่วยหลายกลุ่มอพยพลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามายังประเทศไทย สู่ดินแดนอีสานตอนใต้ซึ่งยังรกร้างว่างเปล่าอยู่มาก ชาวไทยเจ้าของถิ่นในขณะนั้นเสื่อมอำนาจ เนื่องจากขอมซึ่งตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองพิมาย (อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา)  ได้ยกทัพมารบกวน ทำให้คนไทยต้องถอยร่นไปอยู่ที่อื่น พวกส่วยเหล่านี้จึงตั้งเป็นชุมนุมต่างๆ อาศัยดินแดนแถบนี้ทำไร่นาหาของป่าเลี้ยงชีพสืบกันต่อมาด้วยความเป็นสุข บรรดาชาวส่วยที่อพยพเข้ามาเหล่านี้ได้แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มด้วยกัน เท่าที่ทราบมีดังนี้

กลุ่มที่ ๑ หัวหน้าชื่อเชียงปุ่ม ตั้งหลักแหล่งที่บ้านเมืองทรี (ปัจจุบันคือเมืองที จังหวัดสุรินทร์)

กลุ่มที่ ๒ หัวหน้าชื่อเชียงสี ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านหนองกุดหวาย (ท้องที่อำเภอรัตนบุรีจังหวัดสุรินทร์)

กลุ่มที่ ๓ หัวหน้าชื่อเชียงสง ตั้งหลักแหล่งที่อยู่ที่บ้านเมืองลิง (ปัจจุบันคืออำเภอจอมพระจังหวัดสุรินทร์)

กลุ่มที่ ๔ หัวหน้าชื่อเชียงขัน ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านปราสาทสี่เหลื่ยมดงลำดวน (ปัจจุบัน คือ บ้านดวนใหญ่ ตำลบดวนใหญ่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ)

กลุ่มที่ ๕ หัวหน้าชื่อเชียงฆะ ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านอัจจะปะนึ่ง (ปัจจุบันคือบ้านสังขะ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์

กลุ่มที่ ๖ หัวหน้าชื่อเชียงชัย ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านจารพัด (ปัจจุบันคืออำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์)

 

การติดตามช้างเผือกและกำเนิดเมืองขุขันธ์

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๒ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ หรือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งสุริยามรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) ช้างเผือกของพระองค์ได้แตกออกจากโรงช้างต้นในกรุงศรีอยุธยา แล้วเดินทางมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสให้ทหารเอกคู่พระทัยสองพี่น้อง คือ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พระนามเดิมทองด้วง กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระนามเดิมบุญมา ให้คุมไพร่พลและทหารกรมช้างต้น ๓๐ นายออกติดตาม ได้ติดตามพญาช้างเผือกมาทางแขวงเมืองพิมาย ผ่านมาจนถึงบริเวณป่าดงดิบทางฝั่งทิศใต้ลำน้ำมูลจึงได้ข่าวจากพวกชาวป่าว่า พญาช้างเผือกผ่านมาทางบ้านหนองกุดหวาย (อำเภอรัตนบุรี) นายทหารเอกสองพี่น้องจึงได้เข้าไปหาเชียงสีหัวหน้าบ้านหนองกุดหวายเพื่อให้เชียงสีช่วยพาไปหาหัวหน้าบ้านต่อ ๆ ไป

เชียงสีได้พาไปหาเชียงปุ่มที่บ้านเมืองทรี (เมืองที) เชียงชัยที่บ้านจารพัด (ศีขรภูมิ) ไปหาตากะจะและเชียงขันที่บ้านปราสาทที่เหลี่ยมดงลำดวน (บ้านดวนใหญ่) แล้วยกต่อไปหาเชียงฆะที่บ้านอัจจะปะนึง (สังขะ) เชียงฆะแจ้งให้ทราบว่า เห็นช้างเผือกกับโขลงช้างป่ามาเล่นน้ำที่หนองโชก ครั้นวันรุ่งขึ้นนายทหารสองพี่น้องกับพวกหัวหน้าส่วยจึงขึ้นไปแอบอยู่บนต้นไม้ริมหนองโชกพอตะวันบ่ายประมาณ ๒ โมง โขลงช้างก็ออกจากป่ามาเล่นน้ำ พญาช้างเผือกเดินอยู่กลางโขลงมีช้างป่าล้อมหน้าล้อมหลัง นายทหารสองพี่น้องจึงนำเอาก้อนอิฐ ๘ ก้อนที่นำมาจากเมืองทรีขึ้นเสกเวทย์มนต์คาถาอธิษฐานแล้วขว้างไปยังโขลงช้างป่าทั้งแปดทิศ ช้างป่าแตกหนีเข้าป่าหมดเหลือแต่พญาช้างเผือก

นายทหารสองพี่น้องจึงนำพญาช้างเผือกกลับกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับพวกทหารและหัวหน้าชาวส่วย

ที่ช่วยติดตามช้าง เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วนายทหารทั้งสองได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงความดีความชอบของพวกหัวหน้าส่วยที่ช่วยติดตามช้างหลวงจนสำเร็จ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้

๑. ตากะจะ     เป็นหลวงแก้วสุวรรณ          อยู่บ้านปราสาทที่เหลี่ยมดงลำดวน

๒. เชียงขัน     เป็นหลวงปราบ                 อยู่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน

๓. เชียงฆะ     เป็นหลวงเพชร                 อยู่บ้านสังขะ

๔. เชียงปุ่ม     เป็นหลวงสุรินทร์ภักดี         อยู่บ้านคูปะทายสมัย (จังหวัดสุรินทร์)

๕. เชียงสี        เป็นหลวงศรีนครเตา          อยู่บ้านหนองกุดหวาย

ให้เป็นหัวหน้าควบคุมพวกเขมรส่วยป่าดงในตำบลบ้านที่ตนอยู่ ทำราชการขึ้นอยู่กับเมืองพิมาย พวกนายกองทั้งห้าคนได้เดินทางกลับบ้านของตนและปฏิบัติราชการตามรับสั่ง

ต่อมาพวกนายกองเหล่านี้ได้นำสัตว์และของป่าต่างๆ ไปส่งส่วยยังกรุงศรีอยุธยา ของส่วย เหล่านี้ได้แก่ ช้าง ม้า แก่นสน ยางสน ปีกนก นอแรด งาช้าง ขี้ผึ้ง เป็นต้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้

หลวงแก้วสุวรรณ  (ตากะจะ)  เป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวน ยกบ้านปราสาท สี่เหลี่ยมดงลำดวน (บ้านดวนใหญ่) ขึ้นเป็นเมืองขุขันธ์ ให้พระไกรภักดีศรีนครลำดวนเป็นเจ้าเมือง

หลวงเพชร (เชียงฆะ) เป็นพระสังขะบุรีศรีนครอัจจะ ยกบ้านโคกอัจจะขึ้นเป็นเมืองสังขะ

หลวงสุรินทร์ภักดี (เชียงปุ่ม) เป็นพระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวางเจ้าเมืองสุรินทร์ยกบ้านคูปะทายสมันขึ้นเป็นเมืองสุรินทร์

 

 

หลวงศรีนครเตา (เชียงสี) เป็นพระศรีนครเตาเจ้าเมืองรัตนะ ยกบ้านหนองกุดหวาย (หรือบ้านเมืองเตา) ขึ้นเป็นเมืองรัตนบุรี ให้เมืองเหล่านี้ขึ้นกับเมืองพิมาย

ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยามีเรื่องราวตามพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานว่า กรุงศรีอยุธยาศรีสัตนาคนหุต ล้านช้าง หลวงพระบาง และนครจำปาศักดิ์ ต่างเป็นแคว้นเอกราชและเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน ปรากฏว่าอำนาจปกครองของนครจำปาศักดิ์ครั้งนั้นได้แผ่เข้ามาถึงดินแดนบางส่วนของเมืองทางภาคอีสานหลายเมือง รวมทั้งเมืองขุขันธ์ด้วย

เมืองนครจำปาศักดิ์แต่เดิมนั้นเป็นแคว้นเอกราช มีเขตแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือมาจนจดเขตแขวงเมืองพิมาย ซึ่งเป็นชายแดนทางตะวันออกของกรุงศรีอยุธยา มีอาณาเขตแบ่งปันกันที่

ลำห้วยขะยูงและเมืองท่ง ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ดและเมืองรัตนบุรี (อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์) ก็เคยเป็นเมืองที่อยู่ในเขตแขวงของแคว้นนครจำปาศักดิ์มาก่อน

เมืองนครจำปาศักดิ์ได้เป็นประเทศราชของไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ สมัยกรุงธนบุรี จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๖ ไทยจึงได้เสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงกันข้ามปากเซ อันมีเมืองนครจำปาศักดิ์และมะโนไพร ซึ่งเป็นเมืองขึ้นกับขุขันธ์ให้แก่ฝรั่งเศส

 

 สมัยกรุงธนบุรี

แผ่นดินอยุธยาต้องพินาศสิ้นเพราะน้ำมือพม่าใน ปี พ.ศ. ๒๓๑๐  สมเด็จพระเจ้าตากสินครองกรุงธนบุรีปกครองแผ่นดินสยามสืบมา เมืองขุขันธ์ก็ยังขึ้นอยู่กับกรุงธนบุรีเป็นปกติ

 

ชาวขุขันธ์เข้าร่วมราชการสงครามในศึกลานช้าง

สาเหตุเกิดจากพระวอ พระตา ซึ่งเดิมเป็นเสนาบดีของกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) แต่มีเหตุบาดหมางกันขึ้นกับเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต จึงได้พาครอบครัวบ่าวไพร่หนีมาอยู่ที่เมืองลุ่มภู แล้วตกแต่งบ้านเมืองจัดสร้างค่ายคูประตูหอรบให้มั่งคงแข็งแรง ขนานนามเมืองใหม่ว่า "เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้ข่าวและถือว่า พระวอ พระตา เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดิน จึงได้แต่งกองทัพยกมาตีอยู่ ๓ แต่กำลังของพระวอ พระตา มีน้อยจึงสู้ไม่ได้ พระตาได้สิ้นชีพในที่รบ พระวอกับพวกได้ตีฝ่าวงล้อมไปได้ แล้วไปขอพึ่งพระเจ้าองค์หลวงแห่งเมืองนครจำปาศักดิ์ (เจ้าไชยกุมาร) โดยไปตั้งมั่นอยู่ที่เวียงดอนกอง เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้แต่งกองทัพติดตามไป แต่เจ้าไชยกุมารได้ไกล่เกลี่ยไว้จึงทำให้การศึกยุติลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง อยู่ต่อมาประมาณ ๓ ปี เจ้าเมืองจำปาศักดิ์กับพระวอเกิดขัดใจและเป็นอริกันขึ้นพระวอจึงแต่งให้ท้าวเพี้ยถือศุภอักษรคุมเครื่องราชบรรณาการไปยังนครราชสีมา และขอขึ้นกับกรุงธนบุรีสืบไป

ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทราบข่าวว่า พระวอเป็นอริกับเจ้านครจำปาศักดิ์ เห็นเป็นโอกาสที่จะกำจัดพระวอได้ จึงแต่งให้พระยาสุโพเป็นแม่ทัพยกมาตีพระวอเมื่อจุลศักราช ๑๑๓๙ (พ.ศ. ๒๓๒๐) กองทัพพระวอสู้ไม่ได้จึงแตกทัพหนีไป กองทัพเวียงจันทน์ตามไปล้อมจับพระวอได้ที่บ้านสักเมืองสมอเลียบ ริมฝั่งแม่น้ำโขงเหนือเมืองเก่า (ตรงกันข้ามปากเซ) ขึ้นมาเล็กน้อยและได้ฆ่าเสีย

ฝ่ายท้าวก่ำบุตรพระวอ ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหมบุตรพระตาหนีไปได้ จึงแต่งให้คนถือหนังสือบอกไปยังเมืองนครราชสีมา ให้นำความกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อทรงทราบ

มรณกรรมของพระวอนับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญของประวัติหัวเมืองมณฑลอีสานและประวัติศาสตร์ไทยมาก โดยทางกรุงธนบุรีถือว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นกรุงศรีสัตนาคนหุตกระทำการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพบังอาจยกทัพมารังแกไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในขอบขันธสีมา

ครั้นจุลศักราช ๑๑๔๐ (พ.ศ. ๒๓๒๑) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพยกไปทางบกสมทบกับกำลังเกณฑ์ไพร่พลจากเมืองสุรินทร์ เมือง   ขุขันธ์ เมืองสังขะ และโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาทแต่ครั้งดำรง

พระยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ เป็นแม่ทัพยกไปทางกัมพูชาเกณฑ์พลเมืองเขมรต่อเรือรบยกขึ้นไปตามลำน้ำโขง กองทัพพระยาสุโพรู้ข่าวก็ถอยกลับไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต กองทัพไทยยกขึ้นไปตีได้เมืองนคร-จำปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) พาครอบครัวไปตั้งอยู่ที่เกาะไชยกองทัพไทยตามไปจับตัวได้ ต่อจากนั้นกองทัพไทยก็เลยยกไปตีเมืองนครพนมแล้วยกไปล้อมเมืองเวียงจันทร์ไว้ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้หนีไปอยู่ที่เมืองคำเกิด กองทัพไทยตีได้เมืองเวียงจันทน์แล้วตั้งให้พระยาสุโพเป็นผู้รั้งเมืองเวียงจันทน์

การศึกครั้งนี้เป็นผลทำให้กรุงศรีสัตนาคนหุตและนครจำปาศักดิ์ ตกมาเป็นประเทศราชของไทยตั้งแต่นั้นมา และกองทัพไทยได้อัญเชิญพระแก้วมรกตลงมายังกรุงธนบุรีด้วย ซึ่งปัจจุบันได้ประดิษฐานอยู่ที่อยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทยอยู่จนบัดนี้

ในการไปราชการทัพครั้งนี้ หลวงปราบ (เชียงขัน) ได้เป็นทหารเอกร่วมไปในกองทัพด้วย ทำศึกจนได้ชัยชนะ ขากลับเมืองขุขันธ์หลวงปราบ (เชียงขัน) ได้หญิงม่ายชาวลาวคนหนึ่งกลับมาเป็นภรรยามีลูกชายติดมาด้วยชื่อท้าวบุญจันทร์

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นความดีความชอบของเจ้าเมืองทั้งสามที่ช่วยราชการทัพในการตีเมืองนครจำปาศักดิ์ และเมืองเวียงจันทน์ได้สำเร็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองขุขันธ์ เจ้าเมืองสุรินทร์ และเจ้าเมืองสังขะ เลื่อนขึ้นเป็นตำแหน่งพระยาในบรรดาศักดิ์เดิมทั้งสามเมือง

ในปีเดียวกันนี้ (พ.ศ. ๒๓๒๑) พระยาขุขันธ์ (ตากะจะ) ถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงปราบ (เชียงขัน) เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองคนที่ ๒ และในปีนั้นเองเจ้าเมืองขุขันธ์คนใหม่ ได้อพยพพลเมืองย้ายเมืองมาอยู่ที่บ้านแตระ (อำเภอขุขันธ์ ในปัจจุบัน) เพราะเมืองขุขันธ์เดิม (บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน) กันดารน้ำ

 

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ลุ พ.ศ. ๒๓๒๕ (ปีขาล จุลศักราช ๑๑๔๔) สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ราชสมบัติปราบดาภิเษกขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (เชียงขัน) ได้เปลี่ยนนามเป็น พระยาขุขันธ์ภักดี ได้มีใบบอกกราบทูลขอตั้งท้าวบุญจันทร์ (บุตรเลี้ยงชาวลาวที่ติดภรรยาม่ายมาจากเวียงจันทน์) ขึ้นเป็นพระไกร ตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าเมืองอยู่มาวันหนึ่งพระยาขุขันธ์ภักดี (เชียงขัน) เผลอเรียกพระไกร (ท้าวบุญจันทร์) ว่าลูกเชลย พระไกรโกรธมากคิดจะแก้แค้นให้ได้ ภายหลังมีพวกญวนประมาณ ๓๐ คน เป็นพ่อค้ามาชื้อโคกระบือถึงเมืองขุขันธ์ พระยาขุขันธ์ภักดีได้จัดให้พวกญวนพักที่ศาลากลาง แล้วเกณฑ์คนนำทางไปส่งที่ช่องโพย ให้พวกญวนนำโคกระบือไปเมืองพนมเปญ พระไกรจึงบอกกล่าวโทษมากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงให้เรียกพระยาขุขันธ์ภักดีไปไต่สวน ได้ความตามข้อกล่าวหาจึงให้นำพระยาขุขันธ์ภักดี (เชียงขัน) กักขังไว้ที่กรุงเทพฯ และโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระไกรเป็นพระยาขุขันธ์ภักดี เจ้าเมืองคนที่ ๓

ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ นั้น พระภักดีภูธรสงคราม (อุ่น) ปลัดเมืองขุขันธ์ ไม่พอใจพระยาขุขันธ์ภักดี (บุญจันทร์) จึงลงมากราบบังคมทูลที่กรุงเทพฯ ขอเป็นเจ้าเมืองอีกเมืองหนึ่งแยกจากขุขันธ์โดยไปตั้งที่บ้านโนนสามขา สระกำแพงใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านโนนสามขา สระกำแพงใหญ่ขึ้นเป็นเมืองศรีสระเกศ (มิได้เขียน ศรีสระเกษ ดังเช่นทุกวันนี้) ให้พระภักดีภูธรสงคราม (อุ่น) ขึ้นเป็นพระยารัตนวงษา เจ้าเมืองศรีสระเกศให้ท้าวมะนะ เป็นพระภักดีภูธรสงคราม ปลัดเมืองขุขันธ์แทน และให้ท้าวเทศ เป็นพระแก้วมนตรียกกระบัตรเมืองขุขันธ์

พ.ศ. ๒๓๒๘ พระยารัตนวงษา (อุ่น) เจ้าเมืองศรีสระเกษถึงแก่อนิจกรรม จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งท้าวชม บุตรพระยารัตนวงษา ขึ้นเป็นพระยาวิเศษภักดี เจ้าเมืองแทนบิดา

พ.ศ. ๒๓๒๙ เจ้าเมืองศรีสะเกศกับเมืองขุขันธ์เกิดวิวาทชิงเขตแดนกัน จึงโปรดเกล้าฯ แบ่งปันเขตแดนให้เรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ขึ้นครองราชย์พระยาวิเศษภักดี เจ้าเมืองศรีสะเกศถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๓๓๐ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระภักดีภูธรสงคราม

ปลัดเมือง เป็นพระยาวิเศษภักดี เจ้าเมือง ให้หลวงยกระบัตรเป็นที่พระปลัดให้ราชบุตรเป็นหลวงยกกระบัตร ให้ทิดอูด เป็นหลวงมหาดไทย ให้ขุนไชยณรงค์เป็นหลวงธิเบศร์

 

กบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์

ลุจุลศักราช ๑๑๘๕ ปีมะเส็ง (พ.ศ. ๒๓๖๔) พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าราชบุตร (โย่) เมืองเวียงจันทน์เป็นเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ได้เปลี่ยนธรรมเนียมเก็บส่วยแก่ชายฉกรรจ์ที่มีภรรยาแล้ว เป็นไหม หรือ ป่าน หรือ ผลเร่ว คนหนึ่งหนักชั่งห้าตำลึง ส่วนข้าวเปลือกให้เก็บตามเดิม ลำดับนั้น ตั้งแต่เขตแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ไปจนถึงเมืองเวียงจันทน์ อยู่ในอำนาจของเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์กับเจ้าราชบุตร (โย่) ผู้ครองเมืองนครจำปาศักดิ์

พ่อลูกทั้งสองเห็นว่ามีเขตแขวงและกำลังไพร่พลมากขึ้นก็กำเริบใจคิดกบฏต่อกรุงเทพฯ

ครั้งปีจอ  จุลศักราช ๑๑๘๘ (พ.ศ. ๒๓๖๙) เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ได้แต่งตั้งให้เจ้าอุปราช (สีถาน) กับเจ้าราชวงศ์เมืองเวียงจันทน์ ยกกองทัพมาตีเมืองรายทางจนถึงกาฬสินธุ์ จับเจ้าเมืองอุปฮาดกับกรมการเมืองฆ่าเสียแล้วกวาดต้อนเอาครอบครัวไพร่พลเมืองการฬสินธุ์ส่งไปเมืองเวียงจันทน์ แล้วยกไปตีเมืองเขมราฐจับเจ้าเมือง (ท้าวก่ำ บุตรพระวอ) ฆ่าเสีย แล้วยกกองทัพไปถึงเมืองร้อยเอ็ด

เจ้าเมืองร้อยเอ็ดเห็นว่าจะสู้ไม่ได้จึงคบคิดกับกรมการเมืองพาเอานางหมานุย นางตุ่ม นางแก้ว บุตรสาวยกให้เจ้าอุปราช เจ้าอุปราชจึงไม่ทำอันตราย แล้วยกกองทัพต่อไปถึงเมืองสุวรรณภูมิ จับข้าหลวงกองสักได้ให้ฆ่าเสีย แต่พระรัตนวงษา เจ้าเมืองสุวรรณภูมิมิได้ยกนางออมบุตรสาวเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนเก่าและม้าผ่าน ๑ ให้เจ้าอุปราช เจ้าอุปราชจึงงดไม่ทำอันตราย แล้วยกกองทัพของเจ้าอุปราชและเจ้าราชวงศ์ได้ยกเลยไปตีหัวเมืองรายทางจนถึงเมืองนครราชสีมา

ฝ่ายเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ (โย่) ได้เกณฑ์ไพร่พลยกกองทัดมาตีเมืองขุขันธ์ เมืองสังขะและเมืองสุรินทร์ จับพระยาขุขันธ์ภักดี (บุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์ พระภักดีภูธรสงคราม (มะนะ) ปลัดเมือง พระแก้วมนตรี (ท้าวเทศ) ยกกระบัตร กับกรมการเมืองได้และให้ฆ่าเสียเพราะไม่ยอมเข้ากับพวกกบฏ ส่วนเจ้าเมืองสังขะและเจ้าเมืองสุรินทร์หนีเอาตัวรอดไปได้ ครั้งนั้นกองทัพเจ้าโย่ได้กวาดต้อนเอาครอบครัวไทย เขมร ส่วย ไปไว้ที่เมืองนครจำปาศักดิ์เป็นจำนวนมาก แล้วได้ยกไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี พระพรหมราชวงศา เจ้าเมืองอุบลราชธานีจำต้องยอมเข้าด้วยกับพวกกบฏ เจ้านครจำปาศักดิ์จึงมิได้ทำอันตราย  ครั้งนั้นเจ้าโย่และเจ้าอนุวงศ์ ได้มาตั้งค่ายอยู่ที่มูลเค็ง แขวงเมืองพิมายแห่ง ๑ ที่บ้านส้มป่อย แขวงเมืองขุขันธ์ แห่ง ๑ ที่ทุ่งมนแห่ง ๑ ที่บ้านบกหวาน แขวงเมืองหนองคายอีกแห่ง ๑ 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพเ็นทัพหลวง ให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชาเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นทัพหน้า ยกกองทัพมาปราบกบฏ ถึงแขวงเมืองนคราชสีมาได้พบเป็นกองทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์และได้สู้รบกันเป็นสามารถ กองทัพเวียงจันทน์ต้านทานมิได้ก็แตกถอยร่นไปอยู่ที่ค่ายมูลเค็งกองทัพไทยได้ตามไปตีค่ายมูลเค็งแตกแล้วยกตามไปตีค่ายส้มป่อย ค่ายทุ่งมน ค่ายน้ำคำ แตกทุกค่ายจนถึงกองทัพเจ้านครจำปาศักดิ์ ขณะนั้นฝ่ายครัวไทย เขมร ส่วย ที่เจ้านครจำปาศักดิ์ได้กวาดต้อนไปไว้ที่เมืองนครจำปาศักดิ์รู้ข่าวกองทัพไทยยกขึ้นมาช่วยก็พากันเอาไฟเผาเมืองนครจำปาศักดิ์ ราษฎรพลเมืองพากันแตกตื่นเป็นอลหม่านเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน จุลศักราช ๑๑๘๙ (พ.ศ. ๒๓๗๐)

 เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เห็นว่าจะสู้กองทัพไทยไม่ได้ จึงถอยกลับไปตั้งรับอยู่ที่เมืองหนอง-บัวลำภูกองทัพไทยตามขึ้นไปตีจนถอยร่นหนีไปแล้ว กองทัพไทยได้ยกขึ้นไปตีได้เมืองเวียงจันทน์

เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ทิ้งเมืองหนีไปอยู่ที่เมืองญวน ต่อจากนั้นได้ยกไปตีเมืองนครจำปาศักดิ์ จับตัว

เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ได้จึงยกทัพกลับกรุงเทพฯ โดยแบ่งทหารบางส่วนให้อยู่รักษาเมืองเวียงจันทน์ต่อมาทหารที่จัดให้อยู่รักษาเมืองเวียงจันทน์หลงเชื่อคำหลอกลวงของญวนว่า จะพาเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เข้ามาอ่อนน้อมแต่โดยดี แต่แล้วเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์กลับรวบรวมไพร่พลยกเข้ามาปล้นฆ่าคนไทยที่รักษาเมืองตายเกือบหมด ที่เหลือได้หนีรอดมาได้และได้รายงานให้เจ้าพระยาบดินทร์ทราบ ซึ่งขณะนั้นเจ้าพระยาบดินทร์เดชาได้รับพระบรมราชโองการให้ยกทัพไปรักษาเมืองเวียงจันทน์แต่เดิมทัพไปยังไม่ถึงเมืองเวียงจันทน์ก็ได้ทราบข่าวเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในเวียงจันทน์และเห็นว่ากำลังทัพมีไม่พอที่จะยกไปตีเมืองเวียงจันทน์ได้ จึงสั่งให้ถอยทัพไปรวบรวมไพร่พลที่เมืองยโสธรให้พร้อมเสียก่อนจึงจะยกไป แต่กองทัพเวียงจันทน์ได้ยกตามมาทันกันที่ค่ายบกหวานแขวงเมืองหนองคาย กองทัพเจ้าพระยาบดินทร์เดชาจึงได้รบกับกองทัพเวียงจันทน์ กองทัพเวียงจันทน์สู้ไม่ได้แตกพ่ายไป กองทัพเจ้าพระยาบดินทร์ เดชาจึงยกไปตีเมืองเวียงจันทน์ได้เมืองเวียงจันทน์เป็นครั้งที่สอง และคราวนี้จับเจ้าอนุวงศ์

เวียงจันทน์ได้

การกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ครั้งนี้ นับเป็นการกบฏที่ยิ่งใหญ่ หัวเมืองสำคัญๆ ทางภาคอีสานหลายเมืองตกอยู่ในอำนาจของพวกกบฏเกือบทั้งสิน ในระหว่างปราบกบฏทางเมืองนครราชสีมาได้เกิดวีรสตรีขึ้นท่านหนึ่ง จากการต่อสู้กับทหารของเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ที่ทุ่งสำริดแขวงเมืองพิมาย ท่านผู้นั้นคือ คุณหญิง "โม" ซึ่งเป็นภริยาของพระยาสุรเดชวิเศษฤทธิ์ทศธิศวิชัยปลัดเมืองนครราชสีมา ได้รับพระราชทานนามว่า "ท้าวสุรนารี"

เมื่อปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เรียบร้อยแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระยาสังขะบุรีไปเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ คนที่ ๔ ให้พระไชย (ใน) เป็นพระภักดีภูธรสงคราม ปลัดเมือง  ให้พระสะเพื้อน

(นวน) เป็นพระแก้วมนตรี ยกกระบัตรเมือง ให้ท้าวหล้าบุตรพระยาขุขันธ์ (เชียงขัน) เป็นพระมหาดไทย ช่วยกันรักษาเมืองขุขันธ์สืบไป

ตามพงศาวดารกล่าวว่า พวกกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ได้มาตั้งค่ายไว้แห่งหนึ่งที่แขวงเมืองขุขันธ์ เรียกว่าค่ายส้มป่อย (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอราษีไศล ทางตะวันตกบ้านส้มป่อย) ที่แห่งนี้ ปรากฏว่ามีโพน (จอมปลวก) ตั้งเรียงรายกันอยู่เป็นแนวติดต่อกันไป เริ่มตั้งแต่ทางตะวันตกบ้านส้มป่อยจนเกือบถึงบ้านบึงหมอก ชาวบ้านเรียกกันว่า "ค่ายส้มป่อยโพนเลียน" (โพงเรียง) เข้าใจว่าที่แห่งนี้จะเป็นค่ายส้มป่อยของกองทัพลาว เพระลักษณะโพนที่ตั้งเรียงรายกันอยู่อย่างมีระเบียบเป็นแถวเดียวกัน และมีระยะห่างเท่ากันไปโดยตลอด คงจะไม่ใช่โพนหรือจอมปลวกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่ริมฝั่งแม่น้ำมูลใกล้ๆ กับโพนเรียงไปทางทิศใต้มีหมู่บ้านหนึ่งชื่อว่าบ้านโก คนในหมู่บ้านนี้พูดภาษาไทยสำเนียงโคราช ชาวบ้านมีอาชีพปั้นหม้อขาย สองถามชาวบ้านได้ความว่า พวกที่มาตั้งบ้านโกครั้งแรกนั้นเป็นชาวโคราชที่ถูกกองทัพลาวกวาดต้อนมา

ลุ พ.ศ. ๒๓๘๘ หลวงธิเบศร์ หลวงมหาดไทย และหลวงอภัย กรมการเมืองศรีสะเกศไม่สมัครที่จะทำราชการกับพระยาวิเศษภักดีเจ้าเมืองศรีสระเกศ ได้อพยพครอบครัวไปตั้งอยู่ที่บ้านน้ำโดมใหญ่ พรมแดนเมืองจำปาศักดิ์ต่อกับอุบลฯ และขุขันธ์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านน้ำโดมใหญ่ขึ้นเป็นเมืองเดชอุดม ตั้งให้หลวงธิเบศร์เป็นพระศรีสุระ เป็นเจ้าเมือง ให้หลวงมหาดไทยเป็นหลวงปลัด หลวงอภัยเป็นหลวงยกกระบัตร รักษาราชการเมืองเดชอุดมต่อไป และในปีเดียวกันนี้โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านไพรตระหมัก (บ้านดาสี)  ขึ้นเป็นเมืองมะโนไพรให้หลวงภักดีจำนง (พรหม) เสมียนตรากรมการเมืองขุขันธ์ซึ่งเป็นบุตรเขยพระยาเดโช (เม้ง-เขมร) เป็นพระมะโนจำนง เจ้าเมืองมะโนไพร ขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ และครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ เป็นข้าหลวงขึ้นไปจัดราชการบ้านเมืองตะวันออก และจัดปันเขตแดนเมืองนครจำปาศักดิ์กับเมืองขุขันธ์ ให้เป็นเขตแดนของเมืองมะโนไพรต่อไป (ปัจจุบันเมืองนะโนไพรอยู่ในเขตประเทศเขมร เขมรเรียกว่าเมืองมูลไปร ไทยได้เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงกันข้ามปากเซซึ่งมีนครจำปาศักดิ์ และเมืองมะโนไพร ให้แก่ฝรั่งเศสไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖)

จุลศักราช ๑๒๑๒ (พ.ศ. ๒๓๙๓) พระยาขุขันธ์ภักดีเจ้าเมืองคนที่ ๔ ซึ่งมาจากเมืองสังขะถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯ  ตั้งให้พระภักดีภูธรสงคราม (ใน) ปลัดเมือง เป็นพระยาขุขันธ์ภักดีเจ้าเมืองขุขันธ์ คนที่ ๕ เลื่อนพระมหาดไทย (หล้า) เป็นพระภักดีภูธรสงคราม ปลัดเมือง เมื่อพระภักดีภูธรสงคราม (หล้า) ถึงแก่กรรม ได้ตั้งให้ท้าวกิ่ง บุตรพระยาขุขันธ์ (เชียงขัน) เป็นปลัดเมืองและให้ท้าวศรีเมืองเป็นพระมหาดไทย  ต่อมาพระยาขุขันธ์ภักดี (ใน) ถึงแก่กรรม ได้โปรดเกล้าฯ  ให้ตั้งยกระบัตร   (นวน) เป็นพระยาขุขันธ์ภักดี เจ้าเมืองคนที่ ๖ เลื่อนพระมหาดไทย (ศรีเมือง) เป็นพระยกกระบัตร

ในศกเดียวกันนี้ พระยาขุขันธ์ภักดี (นวน) ถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระภักดีภูธรสงคราม (กิ่ง) เป็นพระยาขุขันธ์ภักดี เจ้าเมืองคนที่ ๗ เลื่อนยกกระบัตร (ศรีเมือง) เป็นพระปลัดเมือง ให้พระวิเศษ (พิมพ์) เป็นพระแก้วมนตรี พ.ศ.๒๓๙๕ พระยาขุขันธ์ภักดี (กิ่ง) ถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯ ตั้งให้

พระวิไชย (วัง) ผู้เป็นน้องพระยาขุขันธ์ภักดี เป็นเจ้าเมืองแทน เป็นเจ้าเมืองคนที่ ๘

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๑๐ ปลายรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาขุขันธ์ภักดี (วัง) ได้จับพระพล (รส) ผู้น้อง บอกส่งมายังกรุงเทพฯ และถูกจองจำอยู่ที่กรุงเทพฯ จึงถึงแก่กรรมและยังได้บอกกล่าวโทษพระปลัดเมือง (ศรีเมือง) ว่าเบียดบังเงินหลวง ได้มีพระบรมราชโองการให้ส่งตัวพระปลัดเมืองมาพิจารณาที่กรุงเทพฯ พิจารณาได้ความตามที่กล่าวโทษ ตุลาการตัดสินให้พระปลัดเมืองชดใช้เงินหลวง เสร็จแล้วให้กลับไปรับราชการตามเดิม ขณะเดินทางกลับเดินทางมาถึงเมืองปราจีนบุรีก็ล้มป่วยและถึงแก่กรรมกลางทาง ฝ่ายท้าวอ้น บุตรพระปลัดเมือง (ศรีเมือง) เห็นว่า ถ้าจะรับราชการอยู่ในเมืองขุขันธ์ดังแต่ก่อนมา เกรงว่าจะได้รับความเดือนร้อนจึงลงไปกรุงเทพฯ กราบทูลขอออกไปทำราช-การเป็นกองนอกก็ได้รับกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอ้นเป็นพระบริรักษ์ภักดี กองนอกทำราชการขึ้นกับเมืองขุขันธ์ และโปรดเก้ลาฯ ให้ตั้งท้าวบุญนาคบุตรพระยาขุขันธ์ภักดี (วัง) เป็นพระอนันต์ภักดี

ผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์ตามที่พระยาขุขันธ์ภักดี (วัง) มีใบบอกขอมา

พ.ศ. ๒๔๒๖ ในแผ่นดินสมเด็จพระปิยมหาราช พระยาขุขันธ์ภักดี (ปัญญา) เจัาเมืองขุขันธ์กับพระปลัดเมือง (จันลี) ได้นำช้างพังสีประหลาย ๑ เชือก กับช้างพังตาดำ ๑ เชือก ลงมาน้อมเกล้าฯ ถวายที่กรุงเทพฯ

พ.ศ. ๒๔๓๓ มีตราสารโปรดเกล้าฯ ให้เมืองศรีสะเกษไปอยู่ในบังคับบัญชาของข้าหลวงเมืองอุบลราชธานี

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๔ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิดปรีชากร ข้าหลวงใหญ่ได้โปรดให้หลวงจำนงยุทธกิจ (อิ่ม) กับขุนไผท ไทยพิทักษ์ (เกลี่ยน) เป็นข้าหลวงเมืองศรีสะเกษ

พ.ศ. ๒๔๓๕ ให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) เป็นข้าหลวงเมืองขุขันธ์

พ.ศ. ๒๔๓๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้อยู่จัดรูปการปกครองเป็นแบบมณฑล มีสมุหเทศาภิบาลเป็นผู้สำเร็จราชการมณฑล จังหวัดศรีสะเกษขึ้นอยู่ในมณฑลอีสาน กองบัญชาการมณฑลอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี

พ.ศ. ๒๔๔๗ ย้ายที่ตั้งเมืองขุขันธ์ (ซึ่งอยู่ที่ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน) มาอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า (ปัจจุบัน คือ ตำบลเมืองเหนือ ในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ) และยังคงใช้ชื่อเมือง

ขุขันธ์อยู่เหมือนเดิม และยุบเมืองขุขันธ์เดิมลงเป็นอำเภอ เรียกว่าอำเภอห้วยเหนือ

พ.ศ. ๒๔๕๕ เปลี่ยนชื่อมณฑลอีสาน เป็นมณฑลอุบล มีเมืองที่ขึ้นต่อมณฑลนี้เพียง ๓ เมือง คือ เมืองอุบลราชธานี เมืองขุขันธ์ และเมืองสุรินทร์ (เข้าใจว่าเมืองศรีสระเกศคงถูกยุบลงเป็นอำเภอ ขึ้นอยู่กับเมืองขุขันธ์)

พ.ศ. ๒๔๕๕ กระทรวงมหาดไทยประกาศให้เปลี่ยนชื่อเมืองทุกเมือง เป็นจังหวัด เมือง

ขุขันธ์จึงเปลี่ยนเป็นจังหวัดขุขันธ์ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๕๙

พ.ศ. ๒๔๘๑ มีพระราชกฤษฎีกา ให้เปลี่ยนชื่อจังหวัดขุขันธ์ เป็นจังหวัดศรีสะเกษ 

 

ศรีสะเกษ กับ ศรีสระเกศ

คำว่าศรีสะเกษ นี้ เดิมเขียนว่า ศรีสระเกศ ดังที่ปรากฏในเรื่องกำเนินเมืองศรีสระเกศแล้ว โดยเขียนตามหนังสือพงศาวดารที่เขียนไว้ ซึ่งเป็นการถูกต้องตามหลักภาษาที่ระบุไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ตรงกับความหมายของตำบลที่ตั้งเมืองศรีสระเกศแต่เดิมดังนิยามปรับปรากล่าวถึงที่มาของคำว่า ศรีสระเกศ ดังนี้

นิยามที่ ๑ พระยาแกรกเจ้าเมืองเขมร ได้เดินทางท่องเที่ยวไปจนถึงประเทศลาว ไปพบเนื้อคู่เป็นธิดาเจ้าเมืองลาวชื่อนางศรี ได้สู่ขอแต่งงานอยู่กินดัวยกันเรียบร้อยที่ประเทศลาวต่อมาพระยาแกรกเดินทางกลับประเทศเขมรก่อนทิ้งนางศรีไว้ที่เมืองลาว นางศรีมีครรภ์แก่และคิดถึงสามีจึงออกเดินทางติดตามสามีไปเมืองเขมร เดินทางไปถึงทำเลหนึ่งมีสระน้ำใสเย็นนางศรีได้คลอดทารกทิ่ริมสระแห่งนั้น และนางได้ลงชำระสระสรงอาบน้ำล้างตัว พร้อมทั้งชำระล้างทารกบุตรของนางที่สระน้ำ แล้วนางจึงเดินทางต่อไปยังเมืองเขมร สระนี้จึงได้ชื่อว่าศรีสระเกศ แต่นั้นมา

นิยามที่ ๒ กล่าวถึงพระยาศรีโคตรตะบองเพชรครองกรุงกัมพูชา (เขมร) มีตะบองเพชรเป็นอาวุธวิเศษ พระยาศรีโคตรตะบองเพชรกับพระมเหสีเดินทางไปเมืองลานช้าง ขากลับแวะลงสระสรงน้ำที่สระกำแพงทั้งสององค์ จึงได้ชื่อว่า ศรีสระเกศ

นิยามที่ ๓ เล่าว่าพระนางศรีนางพญาขอม (เขมรโบราณ) เดินทางจากเมืองพิมายผ่านมาและลงสระผมที่สระนี้ จึงได้ชื่อว่า ศรีสระเกศ

จึงสรุปได้ว่า มีคนชื่อศรี มาสระผมที่สระนี้ เกศ แปลว่า ผม (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ หน้า ๑๖๒) ส่วนคำว่า สระ แปลว่า ชำระ ฟอก ล้าง (หน้า ๘๗๗) ดังนั้น ที่เขียนตามพงศาวดารว่า ศรีสระเกศ นั้นถูกต้องตรงกับความหมายทางภาษาทุกประการ แต่ที่เขียนเป็น ศรีสะเกษ ยังหาที่มาไม่พบ

 

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล

หลังจากจัดหน่วยราชการบริหารส่วนกลาง โดยมีกระทรวงมหาดไทยในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศ และควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้ว การจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็มีการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่ การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือได้ว่า เป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น การปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่งที่รัฐบาลจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลในสมัยนั้น การปกคอรงแบบเทศาภิบาลเป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบเรียบร้อยและเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเพณีปกครองดั้งเดิมของไทย คือระบบกินเมืองให้หมดไป

การปกครองหัวเมืองก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ นั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใดก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากการคมนาคมไปมาหาสู่ลำบาก หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ๆ ส่วนหัวเมืองอื่นๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจอย่างกว้างขวาง ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งเสนาบดี พระองค์ได้จัดให้อำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกันโดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชา

หัวเมืองทั้งปวง ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ซ. ๒๔๓๙ จนถึง พ.ซ. ๒๔๕๘ จึงสำเร็จ และเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น จึงจะขอนำคำจำกัดความของการเทศาภิบาล ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า

"การเทศาภิบาล คือการปกครองโดยลักษณะที่จัดให้หน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วย ตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้น ออกไปดำเนินงานในส่วน

ภูมิภาคอันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความร่วมเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ จึงได้แบ่งส่วนการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นลำดับ ดังนี้ คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑลรองถัดลงไปเป็นเมือง คือ จังหวัด รองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวงทบวงกรมในราชธานีและจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญา ความประพฤติดี ให้ไปประจำทางตามตำแหน่งหน้าที่ มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อย รวดเร็วแก่ราชการและธุรกิจของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย"

จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล ดังนั้น การเทศาภิบาลนั้น หมายความรวมว่า เป็น "ระบบ" การปกครองอาณาเขตชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า " การปกครองส่วนภูมิภาค" ส่วน "มณฑลเทศาภิบาล นั้น คือส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ และยังหมายความอีกว่า ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราช-การส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม อันเป็นระบบกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลาง และริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ ก่อนการจัดระเบียนการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกัน แต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังจะอธิบายโดยย่อต่อไปนี้ เมื่องพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช ทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่งคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้างและกรมท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง ยากที่จะจัดระเบียบปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร ทรงพระราชดำริว่า ควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว จึงได้มีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล มีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง การจัดตั้งมณฑลในครั้งนี้มีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียง หรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวน หรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาว หรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมร หรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันตก บัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต

การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาล การจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นต้นมาและก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับ ดังต่อไปนี้

พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นปีแรกได้วางแผนงานจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จกระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ และในตอนปลายนี้เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเดียวกัน จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนคร

ชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรี-

ธรรมราช และมณฑลชุมพร

พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมะลายูตะวันออก เป็นมณฑลไทรบุรี และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่าฯ ที่เหลืออยู่อีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล

พ.ศ. ๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย

พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานีและมณฑลจันทบุรี มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด

พ.ศ. ๒๔๕๐ ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษเพื่อแลกเปลี่ยนกันการแก้ไขสัญญาค้าขาย และเพื่อกู้ยืมเงินจากอังกฤษมาสร้างทางรถไฟ

พ.ศ. ๒๔๕๕ ให้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด มณฑลอุบลมีเมืองที่ขึ้นอยู่ในการปกครอง ๓ เมือง คือ เมืองอุบลราชธานี เมืองขุข้นธ์ และเมือง

สุรินทร์ (เข้าใจว่าเมืองศรีสะเกศ คงจะถูกยุบลงเป็นอำเภอขึ้นอยู่กับเมืองขุขันธ์จึงไม่ปรากฏชื่อเมืองศรีสะเกศ)

พ.ศ. ๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ

 

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมากรจังหวัดเป็นผู้บริหารเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลแล้วยังแบ่งออกเป็นจังหวัดและอำเภออีกด้วย เมื่อมีประกาศใช้พระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องมาจาก

(๑) การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง

(๒) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง

(๓) เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น

(๔) รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัด มีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้

(๑) จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่

(๒) อำนาจบริหารในจังหวัดซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคลได้แก่ คณะกรรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือผู้ว่าราชการจังหวัด

(๓) ในฐานะของคณะกรรมการจังหวัดซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการ

แผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด

ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการ

ส่วนภูมิภาคเป็น

(๑) จังหวัด

(๒) อำเภอ

จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้งยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น

 

ราชบัณฑิตสถาน,อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๓ (พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๕๐๗ น. ๑๔๖๘)

 

() (๓) (๔) ราชบัณฑิตสถาน,อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๓ (พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๕๐๗ น. ๑๔๖๘)

หลักฐานเอกสารตรงกัน ๓ เล่ม คือ ๑. อมรวงศ์วิจิตร,หม่อม (ม.ร.ว. ปฐม คเนจร),น.๑๙๗ ๒. ราชบัณฑิตยสถาน. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย  เล่ม ๓ น.๑๔๖๘ ๓.ประชุมพงศาวดาร ภาค ๔ ของหอสมุด วชิรญาณ (พระนคร : รพ.ส่วนท้องถิ่น ๒๕๐๖) น. ๔๐-๑

 

 

 

พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ พระนคร : โรงพิมพ์กรมการศาสนา, ๒๕๑๓ อธิบายคำว่า ส่วย  

ดังนี้ ส่วย แปลว่าของที่เรียกเก็บจากพื้นเมืองส่งเป็นภาคหลวงตามวิธีเรียกเก็บภาษีอากรในสมัยโบราณ (หน้า ๘๘) ส่วย แปลว่าชนชาติพูดภาษาตระกูลมอญเขมรพวกหนึ่งอยู่ทางภาคอีสาน (หน้า ๘๘๒)

ราชบัณฑิตยสถาน.อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๓ หน้า ๑๔๖๙ และ อมรวงศ์วิจิตร, หม่อม. "พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน" ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๓ หน้า ๑๙๙

จังหวัดร้อยเอ็ด

 

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

ตามตำนานเล่ากันมาว่า บริเวณที่ตั้งจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน เดิมเป็นเมืองใหญ่ชื่อว่า เมืองสาเกตนคร (อาณาจักรกุลุนทะนคร) เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณกาล มีเมืองขึ้นถึงสิบเอ็ดเมือง (ในสมัยโบราณนิยมเขียนสิบเอ็ด เป็น ๑๐๑ คือ สิบกับหนึ่ง) มีทางเข้าสู่เมืองถึงสิบเอ็ดประตู มีเจ้าผู้ครองนครเรียกว่าพระเจ้ากุลุนทะ มีเชื้อสายสืบสันติวงศ์ติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี เมืองสาเกตนครหรืออาณาจักรกุลุนทะนคร นอกจากจะมีประตูและเส้นทางเข้าสู่เมืองถึงสิบเอ็ดทางแล้ว ยังมี รหัส ควบคุมความปลอดภัยความมั่นคงของบ้านเมืองอย่างเข้มแข็ง เช่น มีวัดตามรายทางเข้าเมือง และมีปี่ซาววา (ซาว เป็นภาษาอีสานหมายความว่า ๒๐) สามารถส่งสัญญาณเข้าสู่ตัวเมืองบอกข่าวสาร แจ้งเหตุร้ายดีที่จะมาถึงเมืองสาเกตนครให้ทราบล่วงหน้าได้เป็นอย่างดีเมืองสาเกตนครหรืออาณาจักรกุลุน-ทะนครจึงเป็นอาณาจักรที่จัดระบบการปกครองและรัฐประศาสนศาสตร์แตกต่างไปจากอาณาจักรอื่น ๆ

สมัยพระเจ้าสุริยวงศาไชยเชษฐาธรรมิกราช เมืองขึ้นกับเมืองสาเกตนครทั้งสิบเอ็ดเมืองคือ

(๑) เมืองเชียงเหียน        (บ้านเชียงเหียน อำเภอเมืองมหาสารคาม)

(๒) เมืองฟ้าแดด            (บ้านฟ้าแดดสูงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์)

(๓) เมืองสีแก้ว              (บ้านสีแก้ว  อำเภอเมืองร้อยเอ็ด)

(๔) เมืองเปือย              (บ้านเมืองเปือย  อำเภอเมืองร้อยเอ็ด)

(๕) เมืองทอง                (บ้านเมืองทอง  อำเภอเมืองร้อยเอ็ด)

(๖) เมืองหงษ์               (บ้านเมืองหงษ์  อำเภอจตุรพักตรพิมาน)

(๗) เมืองบัว                 (บ้านเมืองบัว  อำเภอเกษตรวิสัย)

(๘) เมืองคอง                (อยู่บริเวณ อำเภอเมืองสรวง) อำเภอสุวรรณภูมิ)

(๙) เมืองเชียงขวง          (บ้านจาน  อำเภอธวัชบุรี)

(๑๐) เมืองเชียงดี           (บ้านโนนหัว  อำเภอธวัชบุรี)

(๑๑) เมืองไพ                (บ้านเมืองไพร  อำเภอเสลภูมิ)

และในสมัยพระเจ้าสุริยวงศาไชยเชษฐาธรรมิกราช อาณาจักรกุลุนทะนครก็ถึงคราวเสื่อม เมืองขึ้นต่างๆ ทั้งสิบเอ็ดหัวเมืองจึงกระด้างกระเดื่อง ทำตัวกบฏกับเมืองสาเกตนคร ต่างยกทัพมารบราฆ่าฟันกัน ผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ในที่สุดก็จับพระเจ้าสุริยวงศาไชยเชษฐาธรรมิกราชสำเร็จโทษ ราษฎรที่เหลือรอดตายก็อพยพทิ้งฐานไปทำมาหากินและตั้งถิ่นฐานใหม่

แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน เดิมเป็นดินแดนที่เรียกว่าอาณาจักรสุวรรณภูมิ แบ่งแยกอำนาจการปกครองเป็น ๓ อาณาเขต คือ

๑. อาณาเขตทวารวดี อยู่ตอนกลาง มีเมืองนครปฐมเป็นราชธานี

๒. อาณาเขตยาง หรือโยนก อยู่เหนือ มีเมืองเงินยางเป็นราชธานี

๓. อาณาเขตโคตรบูร ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มีเมืองนครพนมเป็นราชธานี

ในสมัยนั้นชนชาติเขมรหรือขอมเป็นชนชาติที่เจริญรุ่งเรืองกว่าชนชาติอื่นใดในภูมิภาคนี้ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากชาวอินเดีย ต่อมาขอมก็มีอำนาจครอบครองอาณาจักรนี้เหนือชนชาติอื่นและได้นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่อาณาเขตต่าง ๆ รวมทั้งพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในอาณาเขตโคตรบูรก็เป็นเมืองที่ขอมสร้างขึ้นในสมัยขอมเรืองอำนาจ หลักฐานที่ยังปรากฏได้แก่

ที่อำเภอพนมไพรยังปรากฏมีซากแสดงภูมิฐานที่ตั้งเมือง เป็นรูปสระรอบ ๆ แสดงว่าเป็นคูเมือง ใกล้สระด้านในเป็นรูปเนินดินสูงแสดงว่าเป็นกำแพงเมือง ตอนกลางมีสระโชติ (สระขี้ลิง) รอบ ๆ สระเป็นเนินสูง ลักษณะเป็นเมืองเก่า และมีแผ่นหินทำเป็นรูปเสมาจมในพื้นดินกว่าสิบแผ่น ซึ่งแสดงว่าเป็นศิลปการสร้างของขอม จึงสันนิษฐานว่าพวกขอมเป็นผู้สร้างเมืองนี้ไว้และยังไม่เสร็จเรียบร้อย แต่ต่อมาเข้าใจว่าอพยพไปอยู่ที่อื่น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการศึกสงคราม หรือโรคระบาด

กู่กาสิงห์ ในท้องที่อำเภอเกษตรวิสัย มีลักษณะเป็นปรางค์กู่ที่ก่อสร้างด้วยศิลาแลง รูป   สี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๔๐ เมตร สูง ๘ เมตร มีประตูเข้าออกทั้งสี่ด้าน ภายในมีศิลาแลงวางทับกันเป็นชั้น ๆ ขนาดกว้างด้านละ ๙ เมตร สูง ๒ เมตร ทางด้านทิศตะวันออกสร้างเป็นบันไดด้วยศิลาแลง มีหินแกะสลักเป็นรูปสิงโต ขนาดใหญ่นั่งตรงเชิงบันได จำนวน ๒ ตัว ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด แต่รูปลักษณะของโบราณสถานนี้เข้าใจว่าสร้างในสมัยเดียวกับปราสาทหินพิมาย

อีกแห่งหนึ่ง คือ กู่คันธนาม ในท้องที่กิ่งอำเภอโพนทราย สร้างด้วยศิลาแลงวางซ้อนกันเป็นรูปลักษณะเหมือนกับปราสาทหินพิมายแต่มีขนาดเล็กกว่าปราสาทหินพิมายมากข้างในมีพระเทวรูปที่สร้างในสมัยขอม

จากหลักฐานซากโบราณสถานเหล่านี้พอจะเป็นเหตุอนุมานได้ว่า อาณาเขตพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดปัจจุบัน เป็นเมืองที่ขอมสร้างขึ้นในสมัยเดียวกับขอมสร้างปราสาทหินพิมาย และอาณาบริเวณนี้คงเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองในสมัยนั้น และได้เสื่อมลงตามที่ชนชาติขอมเสื่อมอำนาจลง

 

สมัยกรุงศรีอยุธยา

ราว พ.ศ. ๒๒๔๖ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๗๕ ปีมะเส็ง เบญจศก พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งสืบสายมาจากชาวไทยกรุงศรีสัตนาคนหุต ได้ให้จารย์แก้วคุมไพร่พลสามพันคนเศษ มาสร้างเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านเมืองทุ่ง (ท้องที่อำเภอสุวรรณภูมิ) เรียกว่า เมืองทุ่งหรือเมืองทง ขึ้นตรงต่อนครจำปาศักดิ์ จารย์แก้วปกครองเมืองทุ่งอยู่ได้นานสิบหกปีก็ถึงแก่กรรม จารย์แก้วมีบุตรสองคนคือท้าวมืดกับท้าวทน พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรจึงทรงแต่งตั้งท้าวมืดเป็นเจ้าเมืองทุ่ง และท้าวทนเป็นอุปราช เมื่อท้าวมืดถึงแก่กรรม ท้าวทนจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแทนพี่ชาย ท้าวมืดมีบุตรสองคนคือ ท้าวเชียงและท้าวสูน ทั้งสองคนไม่พอใจที่ไม่ได้เป็นเจ้าเมืองสืบแทนบิดา จึงได้คบคิดกับกรมการเมืองที่เป็นสมัครพรรคพวกของตน เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพึ่งพระบรม   โพธิสมภาร สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ (พระที่นั่งสุริยามรินทร์หรือเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) แห่งกรุงศรีอยุธยาและได้นำทองคำแท่งจำนวนมากไปถวายในคราวเข้าเฝ้า พร้อมกับทูลขอกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาไปช่วยรบกับท้าวทน สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพรหมกับพระยากรมท่าเป็นแม่ทัพเดินทางมาพร้อมกับท้าวเชียงและท้าวสูน เมื่อเดินทางใกล้ถึงเมืองทุ่ง ท้าวทนทราบข่าว จึงพาครอบครัวและไพร่พลอพยพไปอยู่ ณ บ้านกุดจอก เมื่อพระยาพรหมและพระยากรมท่าเข้าเมืองแล้ว ได้ติดตามไปนำตัวท้าวทนมาว่ากล่าวตักเตือนให้คืนดีกันกับท้าวเชียงและท้าวสูนผู้เป็นหลาน ท้าวเชียงกับท้าวสูนก็ได้ครองเมืองทุ่งและเมืองทุ่งจึงขาดจากการปกครองของนครจำปาศักดิ์ มาขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่บัดนั้น

 

สมัยกรุงธนบุรี

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๙ รัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ท้าวเชียงและท้าวสูนเห็นว่าเมืองทุ่งมีชัยภูมิไม่เหมาะ เพราะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเซ (ลำน้ำเสียว) ถูกน้ำเซาะตลิ่งพังทุกปี จึงได้ย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่ ดงท้าวสารและเรียกชื่อใหม่ว่า "เมืองสุวรรณภูมิ" ท้าวเชียงได้สร้างวัดขึ้นสองวัด คือวัดกลางและวัดใต้ สร้างวิหารกว้างห้าวา ยาวแปดวา สูงหกวา สร้างพระพุทธรูปด้วยอิฐและปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้างสี่ศอกคืบ สูงแปดศอกคืบ เหมือนกันทั้งสองวัด

ปี พ.ศ. ๒๓๑๘ ท้าวทนซึ่งอพยพครอบครัวและไพร่พลไปอยู่ที่บ้านกุดจอก ได้ปรึกษาหารือกับพระยาพรหมและพระยากรมท่าขออนุญาตทั้งบ้านกุ่มร้างซึ่งเป็นเมืองร้างขึ้นเป็นเมือง พระยา

พรหมและพระยากรมท่าเห็นว่าท้าวทนมีสมัครพรรคพวกมาก จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง จึงมีใบบอกไปยังกรุงธนบุรี ขอพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองขึ้นที่บ้านกุ่มร้างและให้ชื่อว่า "เมืองร้อยเอ็ด" ตามนามเดิมและให้ท้าวทนเป็นพระขัติยะวงษาเจ้าเมืองคนแรก การสร้างเมืองร้อยเอ็ดขึ้นก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งเขตเมืองสุวรรณภูมิกับเมืองร้อยเอ็ด ดังปรากฏในพงศาวดารว่า "ตั้งแต่ปากลำน้ำพาชี ตกลำน้ำมูล ขึ้นมาตามลำน้ำพาชีถึงปากห้วยดางเดียขึ้นไปทุ่งลาดไถ ไปบ้านข้อเหล็ก บ้านแก่งทรายหิน ตั้งแต่ถ้ำเต่าเหวฮวดดวงสวนอ้อย บึงกุย ศาลาอีเก้ง ภูเมง หนองม่วงคลุ้ม กุ่มปัก ศาลาหักมูลแดง ประจบปากลำน้ำพาชีตกลำน้ำมูลนี้ เป็นเขตเมืองสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ลำน้ำยางตกลำน้ำพาชีขึ้นไป  ภูดอกซ้อน หินทอด ยอดยาง ดู่สามต้น อ้นสามขวาย สนามหมาดหญ้า ผ้าขาวพันนา ฝายพระยานาค ภูเมง มาประจบหนองแก้ว ศาลาอีเก้ง มาบึงกุยนี้ เป็นอาณาเขตเมืองร้อยเอ็ด"

ตามข้อความในพงศาวดารที่ยกมา พอสรุปอาณาเขตเมืองสุวรรณภูมิและเมืองร้อยเอ็ดได้ดังนี้

อาณาเขตเมืองสุวรรณภูมิ

ทิศเหนือ               จดลำน้ำชี ทุ่งลาดไถ บึงกุย (อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม)

ทิศใต้                   จดลำน้ำมูล

ทิศตะวันออก          จดลำน้ำมูล ลำน้ำชี

ทิศตะวันตก           จดอำเภอภูเวียง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

อาณาเขตเมืองร้อยเอ็ด

ทิศเหนือ               จดอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร อำเภอหนองหาร จังหวัดอุดรธานี

ทิศใต้                   จดทุ่งลาดไถ ไปอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

ทิศตะวันออก          จดลำน้ำยัง ภูพาน

ทิศตะวันตก           จดอำเภอภูเวียง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

จังหวัดร้อยเอ็ดยุคปัจจุบันจึงตั้งเป็นเมืองขึ้นมาในสมัยกรุงธนบุรี อันสืบเนื่องมาจากเมืองสุวรรณภูมิ แต่ที่ตั้งเมืองร้อยเอ็ดเป็นเมืองร้างซึ่งคาดว่าคงเป็นเมืองที่มีความรุ่งเรืองก่อนที่จะถูกทอดทิ้งให้เป็นเมืองร้างด้วยเหตุประการใดก็ตาม จากพงศาวดารแบ่งเขตเมืองสุวรรณภูมิและเมืองร้อยเอ็ด จะเห็นได้ว่าทั้งเมืองสุวรรณภูมิและเมืองร้อยเอ็ดมีอาณาเขตกว้างใหญ่ ซึ่งต่อมาภายหลังได้แบ่งแยกท้องที่ตั้งเมืองอื่น ๆ ขึ้น

 

สมัยรัตนโกสินทร์

เมืองสุวรรณภูมิและเมืองร้อยเอ็ดซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวาง ได้ถูกแบ่งท้องที่ตั้งเมืองอื่นหลายเมือง คือ เมืองสุวรรณภูมิถูกแบ่งท้องที่ตั้งเมืองชนบท เมืองพุทไธสง เมืองพยัคภูมิพิสัย เมืองร้อยเอ็ดได้ถูกแบ่งท้องที่ตั้งเมืองมหาสารคาม เมืองกาฬสินธุ์ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้มีการปรับปรุงรูปการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด อำเภอ เมืองร้อยเอ็ดเปลี่ยนเป็นจังหวัดร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิลดฐานะเป็นอำเภอสุวรรณภูมิ อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดร้อยเอ็ดแต่นั้นมา

เมื่อครั้งเกิดกบฏฮ่อ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ธิบดีเป็นแม่ทัพเกณฑ์กำลังคนทางหัวเมืองภาคอีสาน ยกไปปราบฮ่อที่เมืองเวียงจันทร์และเมืองหนองคาย ขณะนั้นเมืองร้อยเอ็ดมีพระขัติยะวงษา (สาร) เป็นเจ้าเมือง และราชบุตร (เสือ) ได้รวบรวมไพร่พลสมทบกับกองทัพพระยามหาอำนาจธิบดีไปปราบฮ่อด้วย ระหว่างทำศึกปราบฮ่อนั้นราชบุตร (เสือ) ถูกยิงด้วยปืนที่มือขวาโลหิตไหล  บ่าวไพร่พาหนีมาได้ ส่วนพระขัติยะวงษา (สาร) กลับหนีศึกคืนมาเมืองร้อยเอ็ด เมื่อเสร็จศึกปราบฮ่อแล้วพระยามหาอำมาตย์ธิบดีจึงควบคุมตัวพระขัติยะวงษา (สาร) แต่ได้หนีไปอยู่เมืองนครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมาจับได้และส่งไปยังพระมหาอำมาตย์ธิบดีที่เมืองหนองคาย แล้วพระยามหาอำมาตย์ธิบดีกลับมาจัดราชการที่เมืองร้อยเอ็ด โดยตั้งราชบุตร (เสือ) เป็นผู้รักษาราชการ เมืองร้อยเอ็ด ซึ่งภายหลังได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแทนพระขัติยะ   วงษา (สาร)

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ทางราชการได้ย้ายกองพลทหารราบที่ ๑๐ จากจังหวัดอุบลราชธานี มาตั้งกองพลทหารราบที่ ๑๐ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด จึงมีถนนสายหนึ่งชื่อถนนกองพล ๑๐ ซึ่งเป็นถนนสู่กองพลดังกล่าว ต่อมาได้ย้ายกรมทหารราบที่ ๒๐ จังหวัดอุดรธานีมารวมในกองพลทหารราบที่ ๑๐ ภายหลังได้ยุบกองพลทหารราบที่ ๑๐ เป็นกองพันทหารม้าที่ ๕ และได้ยุบกองทัพทหารม้าที่ ๕ ไปในที่สุด

 

 

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบการปกครอง และการบริหารราชการแผ่นดิน ทรงนำวิทยาการแผนใหม่จากประเทศตะวันตกมาใช้ ทรงตั้งกระทรวงขึ้น ๑๒ กระทรวง มีการแบ่งอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในแต่ละกระทรวงให้แน่นอนและมีเสนาบดีรับผิดชอบบริหารงานของแต่ละกระทรวง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อยในหัวเมือง หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงเริ่มการจัดตั้งมณฑลขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ โดยรวมหลาย ๆ จังหวัดขึ้นเป็นมณฑล มีข้าหลวงหรือข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ซึ่งก่อนการเปลี่ยนแปลงนี้การปกครองหัวเมืองนั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใด ก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากการคมนาคมไปมาลำบาก หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ ๆ ส่วนหัวเมืองอื่น ๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจกว้างขวาง แต่การจัดตั้งมณฑลนั้นข้าหลวงหรือข้าหลวงเทศาภิบาลขึ้นตรงต่อส่วนกลาง

ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้จัดตั้งมณฑลขึ้นโดยรวบรวมหัวเมืองเข้าด้วยกันมี ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียง มณฑลลาวพวน มณฑลลาวกาว มณฑลเขมร มณฑลนครราชสีมาและมณฑลภูเก็ต ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดขึ้นต่อมณฑลลาวกาว

ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้จัดระเบียบบริหารมณฑลแบบใหม่เป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี และมณฑลราชบุรี ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากมณฑลแบบเก่าและต่อมาได้ตั้งมณฑลต่าง ๆ ขึ้นอีกคือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลกรุงเก่า มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลชุมพร มณฑลไทรบุรี (ภายหลังยกให้อังกฤษ เมื่อปี ๒๔๕๐) มณฑลเพชรบูรณ์ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร มณฑลอีสาน มณฑลปัตตานี มณฑลจันทบุรี และมณฑลมหาราช ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดขึ้นต่อมณฑลอีสาน

ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานเป็น ๒ มณฑล คือ มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด มณฑลร้อยเอ็ดมี เมืองร้อยเอ็ด เมืองกาฬสินธุ์ เมืองมหาสารคาม

ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้รวมมณฑลร้อยเอ็ด มณฑลอุบล และมณฑลอุดร ขึ้นเป็นภาคเรียกว่า ภาคอีสาน

ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ยุบปกครองภาคอีสาน ให้จังหวัดในมณฑลร้อยเอ็ดและมณฑลอุบล ไปขึ้นกับมณฑลนครราชสีมา

ระบอบมณฑลเทศาภิบาลนี้ได้ยกเลิกไปหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ. ๒๔๗๕

 

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้ว รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ และได้ยกเลิกระบอบมณฑลเทศาภิบาล ขณะนั้นจังหวัดร้อยเอ็ดมี ๙ อำเภอ คือ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอธวัชบุรี อำเภอเสลภูมิ อำเภอโพนทอง อำเภออาจสามารถ อำเภอพนมไพร อำเภอสุวรรณภูมิ

อำเภอเกษตรวิสัย และอำเภอจตุรพักตรพิมาน ต่อมาได้แบ่งพื้นที่เป็นอำเภอหนองพอก อำเภอปทุมรัตน์ อำเภอเมืองสรวง อำเภอโพธิ์ชัย กิ่งอำเภอโพนทราย และกิ่งอำเภอเมยวดี

ต่อมาเมื่อได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยก็เป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับนั้นและถือเป็นหลักหรือรากฐานของการแบ่งส่วนราชการไทยสมัยต่อๆ มา พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ได้ถูกปรับปรุงแก้ไขโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วน     ภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบ และให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ