ประวัติศาสตร์จังหวัดระยอง

เมื่อมองดูแผนที่ประเทศซึ่งมีรูปร่างลักษณะคล้ายขวานโบราณ ทางภาคตะวันออกเฉียง

ใต้อันเป็นส่วนหนึ่งของตัวขวานจะเป็นที่ตั้งของจังหวัดระยอง เมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งที่ตั้งอยู่ระหว่างสองเมืองใหญ่คือ ชลบุรีและจันทบุรี ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพมหานครไม่เกินสามชั่วโมงก็จะมาถึงเมืองระยอง เมืองที่มีมาแต่ครั้งโบราณมาแล้ว

 

ประวัติการก่อตั้ง

ระยองเริ่มมีชื่อปรากฏในพงศาวดารเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๑๓ ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา ส่วนประวัติดั้งเดิมก่อนหน้านี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่พอจะเชื่อถือได้ว่าระยองน่าจะเป็นเมืองที่ก่อสร้างขึ้นในสมัยของ ขอม คือ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๑๕๐๐ ซึ่งเป็นสมัยที่ขอมมี  

อนุภาพครอบคลุมอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิ มีเมืองนครธมเป็นราชธานี ขอมได้สร้างเมืองนครพนมเป็นเมืองหน้าด่านแรก เมืองพิมายเป็นเมืองอุปราชและได้สถาปนาเมืองลพบุรีขึ้นเป็นเมืองสำคัญด้วย ส่วนทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองนครธม เมืองหน้าด่านเมืองแรกที่ขอมสร้างก็คือ เมืองจันทบูรหรือจันทบุรีในปัจจุบันนี้

เมื่อขอมสร้างจันทบุรีเป็นเมืองหน้าด่าน เพื่อนำเอาอารยะธรรมของขอมเข้ามาสู่แคว้น   ทวาราวดี ก็น่าจะอนุมานได้ว่าขอมเป็นผู้สร้างเมืองระยองนี้ แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด  นักโบราณคดีได้สันนิษฐานจากหลักฐานที่ได้ค้นพบ คือ ซากหินสลักรูปต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ที่บ้านดอน บ้านหนองเต่า ตำบลเชิงเนิน คูค่ายและซากศิลาแลงบ้านคลองยายล้ำ ตำบลบ้านค่าย อำเภอบ้านค่ายซึ่งเป็นศิลปการก่อสร้างแบบขอม ทำให้สันนิษฐานว่าระยองน่าจะเป็นเมืองที่ก่อสร้างขึ้นในสมัยของขอมอย่างแน่นอน

 

ที่ตั้ง

ที่ตั้งของเมืองปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง ส่วนที่ตั้งดั้งเดิมนั้นหนังสือ "ตำนานเมือง" ของราชบัณฑิตยสภากล่าวไว้ว่า ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าที่เดิมจะตั้งอยู่ในท้องที่ใด ได้ความเพียงว่าตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอบ้านค่าย ปัจจุบันมีซากหินหลักรูปต่างๆ ศิลาแลงปรากฏให้เห็นอยู่ ขณะนี้เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองเท่าใดนัก ขึ้นอยู่กับตำบลตาขัน ตำบลบ้านค่าย ต่อมาชายฝั่งทะเลได้งอกออกไปเรื่อยๆ จึงได้เลื่อนตัวเมืองตามลงไปตั้งอยู่ที่ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมือง ในปัจจุบัน

จาก "นิราศเมืองแกลง" ของสุนทรภู่ก็ได้กล่าวถึง "บ้านเก่า" ไว้ตอนหนึ่งว่า

"พอสิ้นดงตรงบากออกปากช่อง

ถึงระยองเหย้าเรือนดูไสว

แวะเข้าย่านบ้านเก่าค่อยเบาใจ

เขาจุดไต้ต้อนรับให้หลับนอน"

คำว่า "บ้านเก่า" นี้ คงจะหมายถึงหมู่บ้านเก่า ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองระยองในเวลานั้นนั่นเอง สุนทรภู่ได้แวะพักเอาแรงที่บ้านเก่า ๒ คืนก่อน แล้วจึงออกเดินทางต่อไปยังบ้านนาตาขวัญ บ้านแลง ผ่านไปเรื่อยจนกระทั่งถึงบ้านกร่ำ อำเภอแกลง (ในสมัยนั้นเป็นเมืองแกลง) เพื่อไปพบกับบิดาซึ่งบวชเป็นพระอยู่ที่นั้น

 

ที่มาของคำว่า "ระยอง"

มีผู้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของชื่อนี้เป็นหลายกระแส คือ

๑. ตำบลท่าประดู่อันเป็นที่ตั้งของตัวเมืองในขณะนี้ แต่เดิมเป็นที่อาศัยของพวกชอง ซึ่งตั้งรกรากอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมอยู่ในแถบระยอง จันทบุรี ชนเผ่านี้มีความชำนาญในป่าเขาลำเนาไพรและมีภาษาพูดของตนเอง เป็นชนพื้นเมืองที่นิยมใช้ลูกปัดสีต่างๆ และทองเหลืองเป็นเครื่องประดับ สืบเชื้อสายมาจากพวกขอม (นักชาติวงศ์วิทยาจัดให้อยู่ในพวกมอญ-เขมร) อันนี้ทำให้น่าคิดว่า คำว่า ระยอง ตะพง เพ แลง ชะเมา แกลง ซึ่งเป็นชื่อเมือง ตำบลและอำเภอ ซึ่งไม่มีคำแปลในพจนานุกรมไทย ก็น่าจะมาจากภาษาชองนี่เอง จากเรื่อง "อาณาจักรชอง ตอนหนึ่ง" ของแก่นประดู่กล่าวไว้ว่า "ผู้เฒ่าผู้แก่วัยหนึ่งศตวรรษ หลายต่อหลายคนต่างก็ยืนยันในคำพูด อยู่ในทำนองเดียวกันว่าระยองเป็นภาษาพูดคำหนึ่งของคนเผ่าชอง ซึ่งเดิมเรียกกันว่า "ราย็อง" (เวลาอ่านต้องอ่านออกเสียงตัว รา ให้ยาวหน่อย และออกเสียงตัว ย็อง ให้สั้นที่สุดเท่าที่จะสั้นได้) คำ "ราย็อง" นี้ เล่ากันมาแปลว่า "เขตแดน" หมายถึงว่าเป็นดินแดนของพวกชองอยู่ แต่ภาษาพูดนี้เรียกเพี้ยนกันมาเรื่อยๆ จึงกลายเป็น "ระยอง" ในที่สุด

๒. อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่าคำว่า "ระยอง" นี้ในภาษาชองน่าจะหมายถึง ไม้ประดู่ เพราะ  ในบริเวณที่มีพวกชองตั้งรกรากอยู่นั้นอุดมไปด้วยไม้ประดู่ ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง ปัจจุบันหายากมากและราคาแพง เขตแดนแถบนี้จึงมีชื่อว่า ตำบลท่าประดู่  อันเป็นที่ตั้งของเมืองระยองเวลานี้

๓. ผู้อ้างหลักฐานว่าแต่เดิมมีหญิงชราชื่อว่า "ยายยอง" เป็นผู้มาตั้งหลักฐานประกอบอาชีพทำไร่ในแถบนี้ก่อนผู้ใด จึงเรียกบริเวณแถบนี้ว่า "ไร่ยายยอง"  ต่อมาภาษาพูดก็เพี้ยนไปจนกลายเป็นระยองในที่สุด

ชนเผ่าชองจะมาตั้งรกรากอยู่ทางดินแดนแถบระยองเมื่อไรไม่ปรากฏ แต่เล่ากันว่ามีมานานแล้ว เมื่อคราวที่สุนทรภู่เดินทางมาเยี่ยมบิดาที่เมืองแกลงก็ยังมีพวกชองอยู่เป็นจำนวนมาก สุนทรภู่ได้เขียนถึงพวกชองไว้ในนิราศเมืองแกลงว่า

"ด้วยเดือนเก้าเข้าวสาเป็นหน้าฝน

จึงขัดสนสิ่งของต้องประสงค์

ครั้นแล้วลาฝ่าเท้าท่านบิตุรงค์

ไปบ้านพลงค้อตั้งริมฝั่งคลอง

ดูหนุ่มสาวชาวบ้านรำคาญจิต

ไม่น่าคิดเข้าในกลอนอักษรสนอง

ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง

ไม่เหมือนน้องนึกน่าน้ำตากระเด็น"

กล่าวกันว่า แม้แต่ตระกูลทางบิดาของสุนทรภู่ก็เป็นเชื้อชอง ปัจจุบันไม่มีชนเผ่านี้อยู่ในระยอง เพราะไม่ชอบอยู่ในย่านตลาดหรือชุมนุมชน เมื่อความเจริญย่างเข้ามาก็อพยพทิ้งถิ่นไปเรื่อยๆ และยังมีเชื้อสายชาวชองปรากฏอยู่ที่บ้านคะเคียนทอง คลองพลู อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี

 

ด้านประวัติศาสตร์

ขอย้อนกล่าวทางด้านประวัติศาสตร์บ้าง ประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงเมืองระยองในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา พระยาละแวก เจ้าเมืองเขมร ทรงคิดว่าไทยอ่อนแอ จึงถือโอกาสกรีฑาทัพบุกรุกเข้ามาในแดนไทยแถบหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออก ตามวิสัยที่เคยกระทำมาเป็นเนืองนิจ คือเมื่อไทยเข้มแข็ง เขมรก็มาสวามิภักดิ์ แต่เมื่อไทยอ่อนแอก็ถือโอกาสโจมตีทุกครั้งไป แต่ในครั้งนี้เขมรก็ไม่สามารถยึดครองหัวเมืองเหล่านี้ไว้ได้ จึงเพียงแต่กวาดต้อนผู้คนไปยังประเทศเขมร ซึ่งในบรรดาชาวเมืองที่ถูกกวาดต้อนไปในครั้งนั้นก็มีชาวระยองอยู่ด้วยไม่น้อย

ประวัติศาสตร์อีกตอนหนึ่งได้กล่าวถึงเมืองระยองในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ในระหว่างที่กรุงศรีอยุธยาใกล้จะเสียทีแก่พม่าเป็นครั้งที่สอง พระยาวชิรปราการหรือพระยาตากแม่ทัพคนสำคัญแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถูกเกณฑ์ให้มารักษากรุงในระหว่างที่ถูกพม่าล้อมไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๓๐๖ - ๒๓๑๐ ได้พิจารณาเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงจะต้องเสียทีแก่พม่าเป็นแน่แท้เพราะพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์ผู้ครองกรุงในเวลานั้นทรงอ่อนแอและไร้ความสามารถ ถ้าขืนสู้รบต่อไปก็จะไม่เกิดประโยชน์อันใด ฉะนั้น ในราวเดือนยี่ พ.ศ. ๒๓๐๙ พระยาตากจึงรวบรวมพรรคพวกประมาณ ๕๐๐ คน มีทั้งไทยและจีน รวมทั้งข้าราชการที่มีความเชื่อถือในฝีมือของพระยาตากอีกหลายคน อาทิ เช่น พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา หลวงราชเสนา หมื่นราชเสน่หา ออกไปตั้งหลัก ณ วัดพิชัย (อยู่ใต้สถานีรถไฟในปัจจุบัน) แล้วยกกองทัพมุ่งไปทางตะวันออก ได้ปะทะกับพม่า แต่สามารถตีฝ่าวงล้อมไปได้ พอไปถึงบ้านลำบัณฑิตเวลาสองยามเศษก็แลเห็นแสงเพลิงไหม้กรุง ต่อจากนั้นก็มุ่งไปบ้านโพธิสามหาว (โพธิสาวหารหรือโพธิสังหารก็เรียก) และบ้านพรานนก ได้สู้รบกับพม่าไปตลอดทาง

เส้นทางเดินทัพของพระยาตากที่ปรากฏในพงศาวดารภาคที่  ๖๕ เป็นดังนี้

ออกจากบ้านพรานบนไปบ้านบางคง หนองไม้ซุง ตามทางเมืองนครนายกไปบ้านนาเริ่ง ถึงเมืองปราจีนบุรี บ้านด่านขบและบ้านทองหลาง ตะพานทอง บางปลาสร้อย ถึงบ้านนาเกลือ  ออกไป   พัทยา นาจอมเทียน ไก่เตี้ย สัตหีบ หินโค่ง แวะหยุดพักไพร่พลที่บ้านน้ำเก่าซึ่งเข้าใจกันในปัจจุบันนี้ว่าเป็นเป็นบ้านเก่า ตำบลตาขัน อำเภอบ้านค่าย ซึ่งขณะนั้นผู้รั้งเมืองระยอง คือ พระยาระยอง (บุญเมืองหรือบุญเรือง) ได้ทราบข่าวว่าพระยาตากยกทัพมาก็เกิดความเกรงกลัว จึงพาคณะกรมการเมืองออกไปเชิญให้พระยาตากพาไพร่พลเข้ามาพักในเมือง พร้อมทั้งมอบธัญญาหารเกวียนหนึ่งให้พระยาตาก พระยาตากได้พาไพร่พลเข้ามาที่ท่าประดู่ และพักแรมอยู่ที่วัดลุ่ม (วัดลุ่มมหาชัยชุมพล) สองคืน จึงได้ทำการตั้งค่าย ขุดคูปักขวากล้อมบริเวณที่พักไว้โดยมิได้ประมาท

ในระหว่างเวลานั้น เป็นระยะที่กรุงศรีอยุธยายังมิได้เสียทีแก่พม่า ฉะนั้น การยกทัพมาของพระยาตาก   ทำให้กรมการเมืองระยองคิดระแวงไปว่าพระยาตากจะคิดร้ายต่อบ้านเมืองจึงหลบหนีการสู้รบมา จึงได้นำเรื่องเข้าปรึกษาพระยาระยอง ซึ่งพระยาระยองก็ได้กล่าวห้ามปราม แต่กรมการเมืองไม่ยอมเชื่อ ครั้งเมื่อพระยาตากพักอยู่ที่วัดลุ่มได้สองวัน นายบุญรอด แขนอ่อน นายมาด นายบุญมา น้องเมียพระจันทบูร ได้เข้ามาถวายตัวทำราชการและได้นำความมาแจ้งว่าขุนรามหมื่นซ่อง นายทองอยู่นกเล็ก ขุนจ่าเมือง (ด้วง) หลวงแสนพลหาญ กรมการเมืองระยองได้คบคิดกับพวกทหารประมาณ ๑,๕๐๐ คน จะยกเข้ามาประทุษร้ายพระยาตาก ครั้นเมื่อทราบความเช่นนั้นพระยาตากจึงเรียกผู้รั้งเมือง คือ พระยาระยองมาซักถามความจริง แต่ผู้รั้งไม่ยอมรับ พระยาตากจึงสั่งให้ทหารคุมตัวผู้รั้งเมืองไว้และเตรียมการที่จะรับมือกับศัตรูต่อไป

พอพลบค่ำ พระยาตากจึงสั่งให้ทหารเตรียมการป้องกันไว้และดับไฟมืดทั้งค่าย ตกเวลาประมาณทุ่มเศษ พวกกรมการเมืองซึ่งไม่ทราบว่าพระยาตากรู้ตัวก็คุมทหาร ๓๐ คน เข้าโจมตีค่ายทางด้านเหนือ คือทางด้านวัดเนิน มีขุนจ่าเมือง (ด้วง) เป็นหัวหน้า เมื่อขุนจ่าเมืองคุมพรรคพวกเข้ามาใกล้ค่ายประมาณ ๕-๖ วา พระยาตากก็สั่งให้ทหารระดมยิงปืนพร้อมกันขุนจ่าเมืองและทหารไม่ทันรู้ตัวจึงถูกอาวุธบาดเจ็บล้มตายไปตามๆ กัน พวกกรมการเมืองและทหารที่เหลืออยู่เกิดความกลัวจึงพากันล่าถอยไป พระยาตากก็ระดมไพร่พลไล่โจมตีและยึดเมืองระยองได้ในคืนนั้นเอง ยึดได้ทั้งศาสตราวุธและธัญญาหารเป็นจำนวนมาก บรรดาเหล่าทหารได้เห็นความสามารถและความฉลาดหลักแหลมของพระยาตาก จึงพากันยกย่องเรียกพระยาตากว่า "เจ้าตาก" แต่โดยที่ชื่อเดิมของพระยาชื่อว่า "สิน" จึงพากันเรียกว่า "เจ้าตากสิน" ฉะนั้น จะถือได้ว่าพระยาตากได้รับการยกย่องให้เป็น "เจ้า" ที่เมืองระยองนี่เองก็ไม่ผิดนัก เมื่อเจ้าตากยึดเมืองระยองได้แล้วก็โปรดให้พักไพร่พลอยู่ในเมือง ๗-๘ วัน เพื่อบำรุงขวัญทหารและจัดการเมืองให้เสร็จเรียบร้อย แล้วจึงเสด็จต่อไปยังเมืองจันทบุรีเพื่อยึดเป็นที่ตั้งมั่นในการกอบกู้อิสรภาพของชาติคืนจากพม่าต่อไป

 

การโอนเมืองแกลงมาขึ้นกับเมืองระยอง

อำเภอแกลงนั้นแต่เดิมเป็นเมืองเรียกกันว่า "เมืองแกลง"  มีฐานะเป็นเมืองจัตวาคู่กับเมือง ขลุง ขึ้นอยู่กับเมืองจันทบูร (จันทบุรี) ด้วยเหตุที่เมืองจันทบุรีเป็นเมืองโบราณมีชื่อปรากฏในพงศาวดารมาแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยา จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าเมืองแกลงซึ่งเป็นเมืองขึ้นเมืองหนึ่ง ก็น่าจะมีมาช้านานแล้วเช่นกัน

 

ที่ตั้งของเมือง

เดิมเมืองแกลงตั้งอยู่ที่บ้านแหลมสน ขณะนั้นมีกองทหารเรือตั้งอยู่ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๔๐ กองทหารเรือได้ยุบเลิกไปตั้งอยู่ที่อื่น  ทางราชการจึงได้ย้ายตัวเมืองจากบ้านแหลมสนไปอยู่ที่บ้านหนองโพรง - แหลมเมือง ตำบลปากน้ำประแสร์ แล้วจึงย้ายมาอยู่ที่บ้านทางเกวียน ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของวัดโพธิ์ทองปัจจุบัน ประมาณ ๒ กม. เหตุที่ย้ายที่ตั้งเมืองบ่อยๆ ก็คงเป็นไปตามแบบการปกครองโบราณ คือเมื่อใครได้เป็นเจ้าเมืองก็ย้ายที่ทำการไปไว้ที่บ้านของตน เรื่องนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ-กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายไว้ในหนังสือเรื่องเทศาภิบาลว่า

"ตามหัวเมืองในสมัยนั้นปลาดอย่างหนึ่งที่ไม่มีศาลารัฐบาลตั้งประจำสำหรับว่าราชการอย่างทุกวันนี้ เจ้าเมืองตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ไหนก็ว่าราชการบ้านเมืองที่บ้านของตนเหมือนอย่างเสนาบดีเจ้ากระทรวงในราชธานีว่าราชการที่บ้านตามประเพณีเดิม บ้านเจ้าเมืองผิดกับบ้านของคนอื่นเพียงที่เรียกว่า "จวน" เพราะมีศาลาโถงปลูกไว้นอกรั้วข้างบ้านหลังหนึ่งเรียกว่า "ศาลากลาง" เป็นที่สำหรับประชุมกรรมการเวลามีการงาน เช่น รับท้องตราหรือปรึกษาราชการ เป็นต้น เวลาไม่มีการงานก็ใช้ศาลากลางเป็นศาลาชำระความ เห็นได้ว่าศาลากลางก็เป็นเค้าเดียวกับศาลาลูกขุนในราชธานีนั่นเอง เจ้าเมืองตั้งสร้างจวนและศาลากลางด้วยทุนของตนเอง แม้แผ่นดินซึ่งจะสร้างจวนถ้ามิได้อยู่ในเมืองมีปราการ เช่น เมืองพิษณุโลกเป็นต้น เจ้าเมืองก็ต้องหาชื้อที่ดินเหมือนกับคนทั้งหลาย จวนกับศาลากลางจึงเป็นทรัพย์ส่วนตัวของเจ้าเมือง เมื่อสิ้นตัวเจ้าเมืองก็เป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลาน ใครได้เป็นเจ้าเมืองคนใหม่ ถ้ามิได้เป็นผู้รับมรดกของเจ้าเมืองคนเก่าก็ต้องหาที่สร้างจวนและศาลากลางขึ้นใหม่ตามกำลังที่จะสร้างได้ บางทีก็ย้ายไปสร้างห่างจากที่เดิมฟากแม่น้ำหรือแม้จนต่างตำบลก็มีจวนเจ้าเมืองไปตั้งอยู่ที่ไหนก็ย้ายที่ว่าราชการไปอยู่ที่นั่นชั่วสมัยของเจ้าเมืองคนนั้น ตามหัวเมืองจึงไม่มีที่ว่าราชการเมืองตั้งประจำอยู่แห่งใดแห่งหนึ่ง เป็นนิจเหมือนอย่างทุกวัน"

เมืองแกลงคงจะมีศาลาสำหรับพิจารณาตัดสินคดีซึ่งเกิดขึ้นภายในเมือง ต่อมาราวปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ทางราชการได้สั่งยุบเมืองแกลงลงเป็นอำเภอเรียกว่า "อำเภอแกลง" และย้ายจากบ้านทางเกวียนมาอยู่ในปัจจุบัน ศาลเมืองแกลงจึงพลอยถูกยุบลงด้วยนั่นคือ ทางราชการได้ยุบสภาพจากเมืองจัตวาลงมาตั้งเป็นอำเภอ มีหลวงแกลงแกล้วกล้า (ศรี บุญศิริ) เป็นนายอำเภอคนแรก จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระคำแหงพลล้าน (ชื่อ คชภูมิ) นายอำเภอคนที่สอง จึงได้ย้ายที่ตั้งอำเภอจากบ้านทางเกวียนมาตั้งอยู่ที่บ้านสามย่าน ตำบลทางเกวียนซึ่งมีสภาพเหมาะสมที่จะขยายตัวเมืองได้อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

 

การโอนเมืองแกลง

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้โอนอำเภอแกลงไปขึ้นกับจังหวัดระยอง โดยมีแจ้งความของกระทรวงมหาดไทยลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๕ ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ หน้า ๔๐๗ ว่า "ด้วยมีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าอำเภอแกลงขึ้นเมืองจันทบุรี ยากจะตรวจตราให้ทั่วถึงได้ ทรงพระราชดำริว่าควรจะโอนอำเภอแกลงไปขึ้นเมืองระยองเพราะเป็นท้องที่อยู่ใกล้ จะเป็นการสะดวกในการบังคับบัญชาและตรวจตรายิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนอำเภอแกลงไปขึ้นกับเมืองระยองต่อไป"

(แจ้งความมา ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗)

ด้วยเหตุนี้อำเภอแกลงจึงมาสังกัดกับจังหวัดระยองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา