ประวัติศาสตร์จังหวัดเพชรบูรณ์

ในทางด้านประวัติศาสตร์ จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นเมืองโบราณ สร้างเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้างนั้น ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ ในเรื่องนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวิเคราะห์ว่า "เป็นเมืองที่สร้างมา  ๒ ยุค แต่สร้างลงซ้ำในที่เดียวกัน สิ่งสำคัญคือ พระมหาธาตุและวัดโบราณซึ่งทำให้เราเข้าใจว่า ยุคแรกสร้างเมื่อเมืองเหนือ คือ กรุงสุโขทัยหรือพิษณุโลก เป็นเมืองหลวง ด้วยเอาลำน้ำไว้กลางเมือง เช่นเมืองพิษณุโลก กำแพงเมืองกว้างยาวด้านละ ๘๐๐ เมตร ยุคที่สองจะสร้างในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ด้วยมีป้อมและกำแพงก่อด้วยอิฐปนศิลา สันฐานคล้ายที่เมืองนครราชสีมาแต่เล็กและเตี้ยกว่า เอาแม่น้ำไว้กลางเมืองเหมือนกันแต่ร่นกำแพงเมืองให้เล็กลง กว่าเดิม ภูมิฐานที่สร้างส่อให้เห็นว่าสำหรับป้องกันศัตรูฝ่ายเหนือ เพราะสร้างประชิดทางโคกป่าข้างเหนือ เอาทำเลไร่นาไว้ทางใต้เมืองทั้งสิ้น และน่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะทางพงศาวดารก็ปรากฏว่าทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกลงมาคราวไร ก็ยกลงมาทางริมแม่น้ำป่าสักทุกครั้ง"

นอกจากนั้นในท้องที่อำเภอศรีเทพ มีโบราณสถานเก่าแก่ชื่อ "เมืองศรีเทพ" จากการค้นพบซากโบราณสถานและจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในเมืองศรีเทพ ทำให้น่าเชื่อว่าเมืองเพชรบูรณ์มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ปี และเป็นเมืองที่ขอมสร้างขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับเมืองพิมาย ลพบุรีและจันทบุรี   เพื่อเป็นจุดเผยแพร่วัฒนธรรมของขอมไปสู่อาณาจักรทวาราวดี   ปัจจุบันยังมีซากตัวเมืองกำแพงเมือง และพระปรางค์ปรากฏอยู่ บริเวณที่ตั้งเมืองเป็นที่ราบ มีกำแพงดินสูงรอบเมือง ด้านนอกกำแพงเมืองมีคูเมือง  ภายในเมืองมีพระปรางค์ ซากเทวสถาน รูปเทพารักษ์  พระนารายณ์ รูปยักษ์สลักด้วยศิลาแลงเช่นเดียวกับที่เมืองพิมาย ลพบุรี และจันทบุรี จึงเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเป็นฝีมือของขอมที่ได้รับอารยธรรมจากอินเดีย

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่กล่าวถึงเมืองเพชรบูรณ์เท่าที่ค้นพบมีปรากฏในสมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ มีดังนี้

สมัยกรุงสุโขทัย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ   เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงมีลายพระหัตถ์เกี่ยวกับเพชรบูรณ์ว่า เดิมทีเดียวคงจะตั้งชื่อเมืองเป็น "เพชรบูร" ให้ใกล้กับ "เพชรบุรี" ซึ่งแปลว่าเมืองแข็ง แต่เกรงว่าจะเหมือนกันมากเกินไปจึงตั้งชื่อเป็น "เพชรบูรณ์" ซึ่งคาดว่าชื่อเมืองคงจะตั้งรุ่นเดียวกับเมืองพิษณุโลก คำว่า "เพชรบูรณ์"อาจจะมาจากคำว่า "พืช" ซึ่งหมายถึงที่เกิดของพืชผลก็ได้ แม้ในอินเดียเองก็มีเมืองโบราณชื่อ BIJURE  ซึ่งพอเทียบได้กับ    "พืชปุระ"  ส่วนชื่อเมืองเพชรบูรณ์     เขียนกันเป็น    ๒  แบบ  คือ  "เพชรบูรณ์" และ

"เพชรบูร" ส่วนชื่อใดจะผิดหรือถูกนั้นอาจจะพิจารณาจากศิลาจารึกสมัยสุโขทัย (หลักที่ ๙๓)  จากวัด อโศการาม (พ.ศ. ๑๙๔๙)  ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งพาดพิงถึงเมืองเพชรบูรณ์ ดังต่อไปนี้

"รัฐมณฑลกว้างขวาง ทั้งปราศจากอันตรายและนำมาซึ่งความรุ่งเรื่อง รัฐสีมาของพระราชาผู้ทรงบุญญสมภาคพระองค์นั้น เป็นที่รู้กันอยู่ว่า ในด้านทิศตะวันออกทรงทำเมืองวัชชะปุระเป็นรัฐสีมาด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ทรงทำเมืองเชียงทองเป็นรัฐสีมา....."

จากศิลาจารึกหลักนี้แสดงให้เห็น อาณาเขตของกรุงสุโขทัยในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท (พ.ศ. ๑๙๑๑)  เป็นอย่างดี   โดยเฉพาะด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองสุโขทัย  ได้แก่ "วัชชะปุระ" ดังนั้นชื่อเมืองเพชรบูรณ์ จึงน่าจะมาจากคำว่า "บุระ" หรือ "ปุระ" ซึ่งแปลว่า เมือง ป้อม หอวัง (ป) ส่วนคำว่า "บูรณ์" มาจากคำว่า ปูรณ (ส) แปลว่าเต็ม

นายตรี อมาตยกุล เขียนไว้ในเรื่อง "สำรวจเมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย" ตอนหนึ่งว่า "....เมืองเพชรบูรณ์นี้ ในสมัยสุโขทัยจะเรียกชื่อว่าเมืองอะไรยังไม่สามารถจะค้นหาหลักฐานได้ มีผู้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นเมืองราดก็ได้ แต่ผมเห็นว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอจะต้องตรวจสอบค้น  ต่อไป......"

หลักฐานทางโบราณคดีซึ่งเป็นสิ่งชี้ชัดว่า "เมืองเพชรบูรณ์" เป็นรัฐสีมาของสุโขทัย ได้แก่ พระเจดีย์ทรงดอกตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งเป็นพระประธานของวัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์ เช่นเดียวกับวัดมหาธาตุของสุโขทัย เมืองอื่นๆ ซึ่งจัดว่าเป็นพุทธสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้ และในการขุดค้นทางโบราณคดีที่พระเจดีย์ทรงดอกบัวตูม วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ ของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้พบศิลปวัตถุมากมาย เช่น เครื่องสังคโลกของไทย และเครื่องถ้วยกับตุ๊กตาจีน

สมัยกรุงศรีอยุธยา

เหตุผลที่เกี่ยวข้องถึงเรื่องราวของเมืองเพชรบูรณ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่พอจะยกเอา

ข้อความมากล่าวได้ ดังนี้

กฎหมายที่ตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ว่าด้วยการเทียบศักดินาสำหรับ

ข้าราชการที่มียศสูงสุด มีศักดินาหนึ่งหมื่น ได้แก่ ตำแหน่งต่อไปนี้

.  ฝ่ายทหาร

  ๑. เจ้าพระยาอุปราช                  (ตำแหน่งพิเศษ)

  ๒. เจ้าพระยามหาเสนาบดี (สมุหกลาโหม)

  ๓. พระยาสีหราชเดโชชัย            (ประจำกรุง)

  ๔. พระยาท้ายน้ำ           (ประจำกรุง)

  ๕. พระยาสุรสีห์             (ประจำพิษณุโลก)

  ๖. พระยาศรีธรรมราช                (ประจำนครศรีธรรมราช)

  ๗. พระยาเกษตรสงคราม            (ประจำสวรรคโลก)

  ๘. พระยาศรีธรรมาโศกราช         (ประจำสุโขทัย)

  ๙. พระยารามรณรงค์                 (ประจำกำแพงเพชร)

๑๐. พระยาเพชรรัตน์สงคราม         (ประจำเพชรบูรณ์)

๑๑. พระยากำแหงสงคราม            (ประจำราชสีมา)

๑๒. พระยาไชยาธิบดี                  (ประจำตะนาวศรี)

แต่เดิมในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เคยทำสัมพันธไมตรีกับพระไชยเชษฐาธิราชแห่งนครเวียงจันทน์ เพราะเกรงว่าพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองแห่งพม่าจะยกทัพมาตี ซึ่งต่อมาในปีจุลศักราช ๙๓๐ ตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ก็เป็นจริงตามที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงคาดการณ์ไว้ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า "พระไชยเชษฐายังมีโอกาสปฏิบัติสัญญาตามพันธมิตรที่ได้ให้ไว้ต่อกัน ณ เจดีย์ศรีสองรักษ์ คืออีกห้าปีต่อมา ในจุลศักราช ๙๓๐ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ได้รบพุ่งกันเป็นเวลา ๘ เดือน จนถึงเดือนเก้า จุลศักราช  ๙๓๐  มะเส็งศก  จึงเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง  ทัพพระไชยเชษฐาจึงได้ส่งกองทัพมาช่วยทางด่านเมืองนครไทย เข้ามาทางเมืองเพชรบูรณ์ จะลงมาทางเมืองสระบุรีเป็นทัพกระหนาบ......."

นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ที่กล่าวถึงเมืองเพชรบูรณ์ดัง

ต่อไปนี้

"จุลศักราช ๙๑๙ เดือนยี่ ปีมะเส็ง นพศก (ราว พ.ศ. ๒๑๐๐) พระยาละแวกเจ้าแผ่นดิน เขมร ยกกำลังพลประมาณ ๓ หมื่น รุกรานเข้ามาทางเมืองนครนายก สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ตรัสปรึกษาในการศึกคราวนี้ เสนาบดีมุขมนตรีทั้งหลายถวายความเห็นว่า กำลังทหารและกำลังอาวุธมีน้อย เพราะถูกพระเจ้าหงสาวตีเอาไปเสียเมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาแตก เกรงว่าจะรับทัพเขมรป้องกันพระนครไว้ไม่ได้ ขอเชิญเสด็จประทับที่เมืองพิษณุโลกให้พ้นราชศัตรูก่อน สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ทรงมีบัญชาตามจึงมีพระบรมราชโองการตรัสสั่งให้ขุนเทพอรชุน ได้จัดเตรียมเรือพระที่นั่งและเรือประทับเทียบเพื่ออพยพไปเมืองพิษณุโลก

ขณะนั้นพระเพชรรัตน์เจ้าเมืองเพชรบูรณ์มีความผิด ทรงพระกรุณาให้ออกจากที่เจ้าเมืองมีข่าวลือไปถึงกรุงว่า พระเพชรรัตน์โกรธคิดซ่องสุมผู้คน คอยดักทางจะปล้นทัพหลวง เมื่อเสด็จผ่านไปเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชา ทรงได้รับคำแนะนำจากขุนเทพอรชุนให้ต่อสู้กับพระยาละแวกทรงเห็นชอบด้วย  จึงกลับพระทัยไม่เสด็จไปเมืองพิษณุโลก  และได้จัดทัพตีทัพพระยาละแวกแตกไป "

ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ยังได้กล่าวถึงเมืองเพชรบูรณ์อีกตอนหนึ่งว่า

"ครั้นรุ่งขึ้นก็ยกทัพหลวงเสด็จไปถึงเมืองกำแพงเพชร ตั้งประทับแรมอยู่ที่ตำบลหนองปิง   ๓ วัน แล้วก็ยกทัพไปทางเชียงทองกุมตะเมาะ ขณะนั้นพระยากำแพงเพชรได้ส่งข่าวไปถวายว่า ไทยใหญ่เวียงสือต้นเกียกกาย ขุนปลัดมังทรางวิวายหลวง กับนายม้าทั้งปวงอันอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร   พาครอบครัวอพยพหนีพม่า มอญ ตามไปทันได้รบกันที่ตำบลหนองปิงเป็นสามารถ พม่า มอญ แตกแก่ไทยใหญ่ทั้งปวง ยกไปทางเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า    ทรงดังนั้นก็ให้ม้าเร็วไปบอกกับหลวงโกษาและลูกขุนอันอยู่รักษาเมืองพิษณุโลกว่าซึ่งไทยใหญ่หนีมานั้น    เกลือกจะเป็นเมืองอื่น ให้แต่อายัดด่านเพชรบูรณ์  เมืองนครไทย  ชาติตระการ  และซา  ให้มั่นคง  อย่าให้ไทยใหญ่ออกไปรอด หลวงโกษาและลูกขุนทั้งปวงทราบดังนั้นก็แต่งออกไปกำชับด่านทั้งปวงตามรับสั่ง"

 

สมัยกรุงธนบุรี

จุลศักราช ๑๐๐๗ เดือนสี่ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๑๘) เจ้าพระยาจักรี (สมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลก) เจ้าพระยาสุรสีห์ (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาถ) ได้นำกองทัพตีแตกทัพอะแซหวุ่นกี้ (พม่า) ที่ล้อมเมืองพิษณุโลกออกมาได้ และมาชุมนุมพักทัพที่เมืองเพชรบูรณ์

หลังจากเหตุการณ์นี้แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงเมืองเพชรบูรณ์จนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

มีข้อความหนังสือนิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนสิ้นรัชกาลที่ ๒ อันเกี่ยวกับเมืองศรีเทพและเพชรบูรณ์ ว่า

"ฉันไปมณฑลเพชรบูรณ์นั้น มีกิจอย่างหนึ่งซึ่งจะไปสืบเมืองโบราณด้วย ด้วยเมื่อแรกฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็ไม่มีใครรู้ว่าเมืองศรีเทพอยู่ที่ไหน ต่อมาฉันพบสมุดดำอีกเล่มหนึ่งเป็นต้นร่างกะทางให้คนเชิญตราไปบอกข่าวสิ้นรัชกาลที่ ๒ ตามหัวเมืองเป็นทางๆ ให้คนหนึ่งเชิญตราไปเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ และเมืองเพชรบูรณ์"

สำหรับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เรื่องทรงตั้งและแปลงนามเจ้าเมืองกรมการ ซึ่งมีเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ด้วย ดังนี้

"เมืองวิเชียรบุรี  - พระยาประเสริฐสงครามประเทศราไชยอภัยพิรียทาห แปลงเป็นพระยาเลิศสงครามเขตประเทศราไชยอภัยพิรียทาห

เมืองเพชรบูรณ์   - พระเพชรพิชัยปลัด แปลงเป็น พระเพชรพิชภูมิปลัด"

หลักฐานอันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ที่ชัดแจ้งมาก เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ในสมัยรัชการที่ ๕ ดังจะเห็นได้จาก พระนิพนธ์นิทานโบราณคดีของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชา-  นุภาพ เรื่อง ความไข้เมืองเพชรบูรณ์ ดังนี้

"หัวเมืองที่ขึ้นชื่อลือเลื่องว่ามีความไข้ MALARIA ร้ายกาจแต่ก่อนมามีหลายเมือง เช่น เมืองกำแพงเพชร และเมืองกำเนิดนพคุณ คือ บางตะพาน เป็นต้น แต่ที่ไหนๆคนไม่ครั่นคร้ามเท่าความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ ดูเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่า ถ้าใครไปเมืองเพชรบูรณ์ เหมือนกับไปแส่หาความตายจึงไม่มีชาวกรุงเทพฯ หรือชาวเมืองอื่นๆ พอใจจะไปเมืองเพชรบูรณ์มาช้านาน แม้ในการปกครองรัฐบาลก็ต้องเลือกหาคนในท้องถิ่นตั้งเป็นเจ้าเมือง กรมการ เพราะเหตุที่คนกลัวความไข้ เมื่อแรกฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็ต้องปล่อยให้เมืองเพชรบูรณ์และเมืองอื่นๆ ในลุ่มแม่น้ำสักทางฝ่ายเหนือ คือ เมืองหล่มสักและเมืองวิเชียร เป็นอยู่อย่างเดิมมาหลายปี เพราะจะรวมเมืองเหล่านั้นเข้ากับมณฑลพิษณุโลกหรือมณฑลนครราชสีมา ที่เขตต่อกันก็มีเทือกเขากั้น สมุหเทศาภิบาลจะไปตรวจตราลำบาก ทั้ง ๒ ทาง อีกประการหนึ่งเมื่อแรกฉันจัดการปกครองหัวเมืองมณฑลต่างๆ ขอคนออกไปรับราชการ ฉันยังหาส่งไปให้ไม่ทัน เมืองทางลำน้ำสักมีเมืองเพชรบูรณ์ เป็นต้น ไม่มีใครสมัครไปด้วยกลัวความไข้ดังกล่าวมาแล้ว จึงต้องรอมา"

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงคิดอุบายที่จะระงับความกลัวไข้เมืองเพชรบูรณ์ได้ทรงกล่าวว่า

"เห็นว่าตัวฉันจะต้องขึ้นไปเมืองเพชรบูรณ์เองให้ปรากฏเสียสักครั้งหนึ่งคนจะหายกลัวด้วยเห็นว่าความกลัวไข้คงไม่ร้ายแรงถึงอย่างเช่นกลัวกัน ฉันจึงกล้าไป ถึงจะยังมีคนกลัว ชักชวนก็ง่ายขึ้นด้วยอาจอ้างตัวอย่างว่า แม้ตัวฉันก็ได้ไปแล้ว พระยาเพชรรัตน์ฯ ชอบใจว่า ถ้าฉันไปคนก็เห็นจะหายกลัวได้จริง.......  พอข่าวปรากฏว่าฉันเตรียมตัวจะไปเมืองเพชรบูรณ์ ก็มีพวกพ้องพากันมาให้พร คล้ายกับจะส่งไปทัพ บ้างมาห้ามปรามโดยเมตตาปรานีด้วยเห็นว่าไม่พอที่ฉันจะเสี่ยงภัย...... แต่ส่วนพระองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย ตั้งแต่ฉันกราบทูลความคิดที่จะไปมณฑลเพชรบูรณ์   ตรัสว่า....ไปเถิดอย่ากลัว สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ของเราท่านก็เสด็จไปแล้ว......"

"ฉันไปถึงเมืองเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ท้องที่มณฑลเพชรบูรณ์บอกแผนที่ได้ไม่ยากถือลำแม่น้ำสักเป็นแนวแต่เหนือลงมาใต้ มีภูเขาสูงเป็นเทือกลงมาตามลำน้ำทั้งสองฟาก เทือกข้างตะวันออกเป็นเขาปันน้ำต่อแดนมณฑลนครราชสีมา เทือกข้างตะวันตกเป็นเขาต่อแดนมณฑลพิษณุโลกเทือกเขาทั้งสองข้างนั้น บางแห่งก็ห่าง บางแห่งก็ใกล้แม่น้ำสัก เมืองหล่มสักที่อยู่สุดลำน้ำทางข้างเหนือ แต่ลงมาถึงเมืองเพชรบูรณ์  ตรงที่ตั้งเมืองเพชรบูรณ์เทือกเขาเข้ามาใกล้ลำน้ำดูเหมือนจะไม่ถึง ๔๐๐เส้น แลเห็นต้นไม้บนเขาถนัดทั้ง ๒ ฝ่าย ทำเลที่เมืองเพชรบูรณ์ตอนริมน้ำเป็น ที่ลุ่ม ฤดูน้ำน้ำท่วมแทบทุกแห่ง พ้นที่ลุ่มขึ้นไปเห็นที่ราบทำนาได้ผลดี เพราะอาจจะขุดเหมืองชักน้ำจากห้วยเข้านาได้ เช่น เมืองลับแล พ้นที่ราบขึ้นไปเป็นโคกสลับกับแอ่งเป็นหย่อมๆ ไปจนถึงเชิงเขาบรรทัด บนโคกเป็นป่าไม้เต็งรังเพาะปลูกอะไรอย่างอื่นไม่ได้ แต่ตามแอ่งน้ำเป็นที่น้ำซับ เพาะปลูกพันธุ์ไม้งอกงามดี เมืองเพชรบูรณ์จึงสมบูรณ์ด้วยกสิกรรม จนถึงชาวเมืองทำนาปีหนึ่งก็ได้ข้าวพอกันกิน…สิ่งซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของเมืองเพชรบูรณ์ก็คือ ยาสูบ เพราะรสดีกว่ายาสูบที่อื่นหมดทั้งเมืองไทย ชาวเมืองเพชรบูรณ์จึงหาผลประโยชน์ด้วยปลูกยาสูบขายเป็นพื้น.... พวกพ่อค้าไปรับซื้อตามบ้านราษฎรแล้วบรรทุกโคต่างไปขายทางมณฑลนครราชสีมาบ้าง  มณฑลอุดรบ้าง แต่มณฑลพิษณุโลกปลูกยาสูบเหมือนกัน จึงไม่ซื้อยาเหมือนเพชรบูรณ์ แต่ตลาดใหญ่ของยาสูบเมืองเพชรบูรณ์นั้นอยู่ในกรุงเทพฯ"

หลังจากที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์และเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ทรงอ้างหลักฐานยืนยันที่จะระงับความกลัวไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ไว้ในเรื่องความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ว่า

"พอรุ่งขึ้นฉันไปเข้าเฝ้าฯ วันนั้นมีการพระราชพิธีเสด็จออกพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยเจ้านายและข้าราชการเฝ้าฯ อยู่พร้อมกัน เมื่อเสร็จการพิธี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จทรงพระราชดำเนินมายังที่ฉันยืนเฝ้าอยู่ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระหัตถ์มาจับมือฉัน ดำรัสว่า ทรงยินดี  ที่ฉันได้ไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ แล้วตรัสถามว่ามีใครไปเจ็บไข้บ้างหรือไม่ ฉันกราบทูลว่า ด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ หามีใครเจ็บไข้ไม่ แล้วจึงเสด็จขึ้น ฉันรู้สึกว่าได้พระราชทานบำเหน็จพิเศษ ชื่นใจคุ้มค่าเหนื่อย ว่าถึงประโยชน์ของการที่ไปครั้งนี้ก็ได้สมประสงค์ เพราะแต่นั้นมาก็หาคนไปรับราชการในมณฑลเพชรบูรณ์ได้ไม่ยากเหมือนแต่ก่อน"

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้ ได้มีการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ได้จัดรวบรวมหัวเมืองต่างๆ  เข้าเป็นมณฑล ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ และในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้ยกฐานะเมืองเพชรบูรณ์ขึ้นเป็นมณฑลเพชรบูรณ์ ให้ผู้ว่าราชการเมืองเพชรบูรณ์ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล ยกฐานะอำเภอหล่มสักขึ้นเป็นจังหวัดหล่มสัก ในปี ฑ.ศ. ๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ไปขึ้นมณฑลพิษณุโลก เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เพราะการติดต่อลำบาก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกเป็นครั้งที่สอง จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ให้ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ไปขึ้นมณฑลพิษณุโลก  จึงมีฐานะเป็นเมืองเพชรบูรณ์ตามเดิม และต่อมาได้มีการยกเลิกมณฑลต่างๆ เมื่อได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งพระราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นต้นมา

ส่วนเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่เกี่ยวกับเมืองเพชรบูรณ์ก็คือ เมื่อปลายปี พ.ศ ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ภายหลังเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว มีพระราชพิธีราชาภิเษก ทรงรับน้ำจากสระมน (ปัจจุบันถมเต็มหมดแล้ว) ในวัดมหาธาตุไปร่วมในพระราชพิธี เรื่องนี้ นายทอง ไกรโชค และนายเย็น ไรเมือง อายุ ๙๕ ปี เป็นผู้เล่า โดยเฉพาะนายเย็น ไรเมือง  เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมไปในขบวนส่งน้ำด้วย

นครบาลเพชรบูรณ์

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ และสงครามมหาเอเซียบูรพา ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะคับขัน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายตรงข้ามมุ่งโจมตีจนผู้คนต้องอพยพออกต่างจังหวัดเป็นส่วนมาก รัฐบาลสมัยนั้นมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม  เป็นนายกรัฐมนตรี จอมพลป. พิจารณาเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้นทำให้กรุงเทพฯ ล่อแหลมต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นจากศัตรู ควรจะได้มีการโยกย้ายเมืองหลวงของไทยไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเป็นการฟื้นฟูสถาบันศาสนาให้พัฒนา  ปลุกคนไทยให้เกิดชาตินิยม  มีความรักชาติ  ศาสนา  พระมหากษัตริย์    จอมพลป. มองเห็นการณ์ไกลที่ต้องการแยกศูนย์ราชการกับศูนย์การค้าออกจากกันเหมือนสหรัฐอเมริกา ที่แยกเมืองหลวงออกจากกรุงนิวยอร์ค  โดยไปตั้งเมืองหลวงใหม่ คือ วอชิงตัน ดี.ซี ขึ้นแทน ใช้กรุงนิวยอร์คเป็นเมืองท่าเพราะอยู่ติดทะเล และเห็นว่าจังหวัดเพชรบูรณ์ชัยภูมิเหมาะสมเพราะมีภูเขาล้อมรอบ มีทางออกทางเดียว ศัตรูรุกรานได้ยาก ดังนั้นคณะรัฐมนตรีอันมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้ยกร่างพระราชกำหนดสร้างนครบาลขึ้น แล้วย้ายสถานที่ราชการส่วนกลางมาตั้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พระราชกำหนดนครบาลใหม่นี้ชื่อว่า "พระราชกำหนดระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์และสร้างพุทธบุรี พ.ศ. ๒๔๘๗"

ในการบริหารราชการนครบาลเพชรบูรณ์ครั้งนั้นจัดให้มีคณะกรมการนครบาลเพชรบูรณ์ประกอบด้วยข้าหลวงนครบาลเพชรบูรณ์ สังกัดกระทรวงมหาดไทย รองข้าหลวงนครบาลกับหัวหน้าส่วนราชการบริหารฝ่ายพลเรือนส่วนอื่นๆ ตามที่กระทรวงเจ้าสังกัดจะแต่งตั้ง ข้าหลวงนครบาลมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและมีอำนาจของอธิบดีตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบราชการพลเรือนด้วย

เมื่อข่าวการตราพระราชกำหนดนครบาลเพชรบูรณ์แพร่ออกไป ยังความดีใจให้แก่ชาวเพชรบูรณ์เป็นอย่างมาก จนคนในสมัยนั้นพากันยกย่องชมเชยว่า จังหวัดเพชรบูรณ์คือสวิสเซอร์แลนด์ของประเทศไทย หน่วยราชการต่างๆ จากส่วนกลางก็ได้ขยับขยายมาจัดตั้งหน่วยทำการ เช่น กระทรวงการคลัง ตั้งอยู่ที่ถ้ำฤาษี ตำบลบุ้งคล้า อำเภอหล่มสัก (ชาวบ้านเรียกกันว่าถ้ำฤาษีสมบัติมาตราบเท่าทุกวันนี้) ได้นำพระคลังสมบัติจากกรุงเทพฯ มาเก็บไว้ที่ถ้ำนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองแส ตำบลบุ้งคล้า อำเภอหล่มสัก โรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร. อยู่ที่บ้านป่าแดง ตำบลป่าเลา อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ทำเนียบจอมพล ป. ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงน้ำแข็งเพชรเจริญ) เนื่องจากการย้ายหน่วยราชการไปอยู่นครบาลเพชรบูรณ์ได้กระทำในเวลากระทันหัน จึงต้องปลูกสร้างอาคารชั่วคราว ซึ่งสร้างด้วยไม้ไผ่เป็นส่วนมาก สร้างด้วยไม้จริงเป็นส่วนน้อย จึงชำรุดหักพังไม่มีซากเหลือให้เห็นในปัจจุบัน ถนนหนทางต่างๆ ก็สร้างเป็นทางลำลองโดยเกณฑ์ประชาชนจากจังหวัดต่างๆ ทำให้คนเหล่านั้นพากันมาเจ็บป่วยล้มตายเป็นอันมากเนื่องจากไข้มาเลเรีย

แต่พอพระราชกำหนดนี้นำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความเห็นชอบ  ปรากฏว่าฝ่าย

รัฐบาลแพ้เสียงเพราะสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นเห็นว่าเป็นการหมดเปลืองโดยเปล่าประโยชน์กับ   ทั้งทำให้ประชาชนที่รัฐบาลเกณฑ์มาสร้างถนนสายตะพานหิน-เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นทางออกทางเดียว ต้องเสียชีวิตมากมายจึงลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ในที่สุด จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๘๗ นครบาลเพชรบูรณ์เป็นอันสิ้นสุดลง และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง หน่วยราชการต่างๆ ก็ย้ายกลับสู่กรุงเทพฯ เช่นเดิม

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกมณฑล น่าจะเนื่องจาก

๑. การคมนาคมสื่อสารสะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง

๒. เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง

๓. เห็นว่าหน่วยงานมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวงเป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น

๔. รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้

๑. จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม  พ.ศ. ๒๔๗๖  หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่

๒.   อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่  คณะกรมการจังหวัดนั้นได้เปลี่ยนมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด

๓.  ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดได้กลายเป็นคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด

ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๑๕ ได้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค เป็น

๑.   จังหวัด

๒.   อำเภอ

จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้งยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ      และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น     คณะกรมการจังหวัดประกอบด้วยปลัดจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ส่งมาประจำ    โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรมการจังหวัดโดยตำแหน่ง และในกรณีที่มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด ให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมเป็นคณะกรรมการจังหวัดด้วย

ในปัจจุบันนี้ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีการบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นดังนี้

. ราชการบริหารส่วนกลาง  มีหน่วยงานซึ่ง กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ ตั้งหน่วยงานมาปฏิบัติงานในจังหวัดเพชรบูรณ์  โดยมีสายการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อส่วนกลาง  คือ

           (๑)   ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์

            (๒)   ศาลจังหวัดหล่มสัก

            (๓)   กองพลทหารม้าที่ ๑

            (๔)   กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเพชรบูรณ์

            (๕)   กองอำนวยการกองกำลังเฉพาะกิจ พลเรือน ตำรวจ ทหารที่ ๓๓

            (๖)   หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ๒๖ กรป.กลาง

            (๗)   สถานีวิทยุกระจายเสียง ๙๒๑ กรป.กลาง

            (๘)   จังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์

            (๙)   แขวงการทางเพชรบูรณ์

                          (๑๐)   ศูนย์เครื่องมือกลหล่มสัก

                          (๑๑)   สำนักงานสถิติจังหวัดเพชรบูรณ์    

                          (๑๒)   สถานีตรวจอากาศเพชรบูรณ์

                          (๑๓)   สำนักงานชลประทานเพชรบูรณ์

                          (๑๔)  สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบูรณ์

                          (๑๕)  สถานีทดลองเกษตรพืชไร่เพชรบูรณ์

                          (๑๖)  สถานีทดลองเกษตรที่สูงเขาค้อ

                          (๑๗)  ศูนย์เพาะชำกล้าไม้เขารัง

                          (๑๘)  สถานีวิจัยเพื่อรักษาต้นน้ำแม่น้ำป่าสัก

                          (๑๙)  อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว

                          (๒๐)  ด่านกักสัตว์เพชรบูรณ์

                          (๒๑)  สถานีพืชอาหารสัตว์เพชรบูรณ์ 

                          (๒๒)  สถานีผสมเทียมเพชรบูรณ์

                          (๒๓)  สถานีตรวจรักษาโรคสัตว์เพชรบูรณ์

                          (๒๔)  สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เพชรบูรณ์

                          (๒๕)  ที่ทำการเรือนจำหล่มสัก

                          (๒๖)  ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเพชรบูรณ์

                          (๒๗)  สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์

                          (๒๘)  วิทยาลัยครูเพชรบูรณ์

                          (๒๙)  วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์

                          (๓๐)  วิทยาลัยเกษตรกรรมเพชรบูรณ์ 

                          (๓๑)  วิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์

                          (๓๒)  ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเพชรบูรณ์

                          (๓๓)  โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เพชรบูรณ์

                          (๓๔)  โรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวน ๒๔ แห่ง

                          (๓๕)  รัฐวิสาหกิจ   ได้แก่

                                        -  สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  จำนวน ๓ แห่ง

                                        -  สำนักงานการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน ๕ แห่ง

                        -  ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข จำนวน ๑๓ แห่ง

                        -  ชุมสายโทรศัพท์ จำนวน ๒ แห่ง

                        -  หน่วยสถานีวิทยุโทรคมนาคม จำนวน ๒ แห่ง

-  สถานีบริษัทขนส่ง จำกัด จำนวน ๒ แห่ง

-  ที่ทำการองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.)

           จำนวน ๑ แห่ง

                                        -  สำนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จำนวน ๑ แห่ง

                        -  สำนักงานบริษัทไม้อัดไทย จำกัด จำนวน ๑ แห่ง

                        -  สำนักงานไร่ยาสูบเพชรบูรณ์

                        -  ธนาคารออมสิน จำนวน ๕ แห่ง

                        -  ธนาคารกรุงไทย จำกัด จำนวน ๔ แห่ง

-  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำกัด

           จำนวน ๒ แห่ง

.ราชการบริหารส่วนภูมิภาค แบ่งการปกครองออกเป็น จังหวัด และอำเภอ คือ

      ๒.๑  จังหวัด มีหน่วยงานซึ่งอยู่ในการบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนี้     

                  (๑)  สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์   

                  (๒)  ที่ทำการสัสดีจังหวัดเพชรบูรณ์

                  (๓)  สำนักงานราชพัสดุจังหวัดเพชรบูรณ์

                  (๔)  สำนักงานคลังจังหวัดเพชรบูรณ์

                  (๕)  สำนักงานสรรพากรจังหวัดเพชรบูรณ์

                  (๖)  สำนักงานสรรพสามิตจังหวัดเพชรบูรณ์

                  (๗)  สำนักงานประมงจังหวัดเพชรบูรณ์

                  (๘)  สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบูรณ์

                  (๙)  สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์

                (๑๐)  สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์

                (๑๑)  สำนักงานป่าไม้จังหวัดเพชรบูรณ์

                (๑๒)  สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์

                (๑๓)  สำนักงานขนส่งจังหวัดเพชรบูรณ์

                (๑๔)  สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเพชรบูรณ์

                (๑๕)  สำนักงานจังหวัดเพชรบูรณ์

                (๑๖)  ที่ทำการปกครองจังหวัดเพชรบูรณ์

                (๑๗)  ที่ทำการพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์

                (๑๘)  กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบูรณ์

                (๑๙)  สำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์

                (๒๐)  เรือนจำหวัดเพชรบูรณ์

                (๒๑)  สำนักงานแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์

                (๒๒)  ที่ทำการอัยการจังหวัดเพชรบูรณ์

                (๒๓)  ที่ทำการอัยการประจำศาลจังหวัดหล่มสัก

                (๒๔)  สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดเพชรบูรณ์

                (๒๕)  ที่ทำการประชาสงเคราะห์จังหวัดเพชรบูรณ์

                (๒๖)  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์

                (๒๗)  สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์

                (๒๘)  สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์

       ๒.๒ อำเภอ จังหวัดเพชรบูรณ์ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๘ อำเภอ  ๓  กิ่งอำเภอ  ๙๖ ตำบล  ๙๙๕  หมู่บ้าน  ดังนี้

                (๑)  อำเภอเมืองเพชรบูรณ์       จำนวน ๑๖ ตำบล   ๑๕๑  หมู่บ้าน 

                (๒)  อำเภอหล่มสัก      จำนวน ๑๘ ตำบล   ๑๙๔  หมู่บ้าน 

                (๓)  อำเภอหล่มเก่า     จำนวน   ๙ ตำบล     ๘๖  หมู่บ้าน 

                (๔)  อำเภอชนแดน      จำนวน   ๖ ตำบล     ๖๘  หมู่บ้าน 

                (๕)  อำเภอหนองไผ่     จำนวน   ๙ ตำบล    ๑๐๑  หมู่บ้าน 

                (๖)  อำเภอบึงสามพัน   จำนวน   ๖ ตำบล     ๗๕  หมู่บ้าน 

                (๗)  อำเภอวิเชียรบุรี    จำนวน  ๑๒ ตำบล  ๑๔๒  หมู่บ้าน 

                (๘)  อำเภอศรีเทพ      จำนวน   ๗ ตำบล     ๘๐  หมู่บ้าน 

                (๙)  กิ่งอำเภอน้ำหนาว  จำนวน   ๓ ตำบล     ๒๕  หมู่บ้าน 

              (๑๐)  กิ่งอำเภอวังโป่ง    จำนวน   ๔ ตำบล     ๓๒  หมู่บ้าน

              (๑๑)  กิ่งอำเภอเขาค้อ    จำนวน   ๖ ตำบล     ๔๑  หมู่บ้าน

.  ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีหน่วยการบริหารการส่วนท้องถิ่น ๓ รูป คือ

        ๓.๑.  องค์การบริหารส่วนจังหวัด  จำนวน ๑ แห่ง คือ

              (๑)  องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์

        ๓.๒.  เทศบาล  จำนวน  ๒  แห่ง  คือ 

              (๑)  เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ในท้องที่อำเภอเมืองเพชรบูรณ์

              (๒)  เทศบาลตำบลหล่มสัก   ในท้องที่อำเภอหล่มสัก

        ๓.๓   สุขาภิบาล  จำนวน  ๑๑  แห่ง  คือ

              (๑)  สุขาภิบาลวังชมภู    ในท้องที่ตำบลวังชมภู  อำเภอเมืองเพชรบูรณ์

              (๒)  สุขาภิบาลหล่มเก่า   ในท้องที่ตำบลหล่มเก่า   อำเภอหล่มเก่า

              (๓)  สุขาภิบาลชนแดน    ในท้องที่ตำบลชนแดน    อำเภอชนแดน

              (๔)  สุขาภิบาลท่าข้าม    ในท้องที่ตำบลท่าข้าม    อำเภอชนแดน

              (๕)  สุขาภิบาลดงขุย      ในท้องที่ตำบลดงขุย      อำเภอชนแดน

              (๖)  สุขาภิบาลหนองไผ่   ในท้องที่ตำบลกองทูล    อำเภอหนองไผ่

              (๗)  สุขาภิบาลนาเฉลียง  ในท้องที่ตำบลนาเฉลียง  อำเภอหนองไผ่

              (๘)  สุขาภิบาลซับสมอทอด        ในท้องที่ตำบลซับสมอทอด อำเภอบึงสามพัน

              (๙)  สุขาภิบาลวิเชียรบุรี  ในท้องที่ตำบลท่าโรง     อำเภอวิเชียรบุรี

             (๑๐)  สุขาภิบาลพุเตย     ในท้องที่ตำบลพุเตย      อำเภอวิเชียรบุรี

             (๑๑)  สุขาภิบาลสว่างวัฒนา   ในท้องที่ตำบลสระกรวด อำเภอศรีเทพ

 

ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดเพชรบูรณ์. เพชรบูรณ์ : องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์,๒๕๒๘