ประวัติศาสตร์จังหวัดลำพูน

 

. สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

ลำพูน เดิมชื่อ หริภุญชัย เดิมเป็นถิ่นฐานของเมงคบุตร  (คือพวกชนเผ่าสกุลมอญในสุวรรณภูมิ ภาคเหนืออันเป็นสาขาหนึ่งของชนเผ่ามอญ เขมร จากมหาอาณาจักรพนม) พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปจะบังเกิดนครหริภุญชัยขึ้น และเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วพระบรมสารีริกธาตุจึงปรากฏขึ้นมาเอง

เมืองหริภุญชัย เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ สร้างขึ้นระหว่างแม่น้ำ ๒ สาย คือ แม่น้ำปิง และแม่น้ำกวง ความมุ่งหมายการสร้าง เพื่อเป็นแหล่งขยายอารยธรรมของอาณาจักรที่  รุ่งเรืองของละโว้ไปทางทิศเหนือ ไปสู่ชนที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายในบริเวณแถบนั้น

 

. สมัยกรุงศรีอยุธยา

ลำพูนเป็นเมืองเล็กที่มิได้ตั้งขึ้นเพื่อขยายอิทธิพลทางอาณาจักร จึงถูกรังแกจากชุมชนที่ใหญ่กว่าตลอดมา ทำให้อาณาจักรลานนาไทยที่อยู่ตรงกลางเปลี่ยนมือการปกครองหลายครั้ง และ    ตกอยู่ในอำนาจของพม่าและมอญเป็นเวลานานถึง ๒๐๐ ปี (พ.ศ. ๒๑๐๑-๒๓๑๗) พระเมืองแก้ว ราชวงศ์เม็งราย ผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๑๓ ได้รื้อกำแพงเมืองหริภุญชัยเดิม และสร้างใหม่ให้แคบลงซึ่งรวมอยู่ในอาณาจักรนครพิงค์ ต่อมา พ.ศ. ๒๒๗๒-๒๒๗๕ พม่าคุกคาม แคว้นลานนา เจ้ามหายศเมืองลำพูน ได้ยกกองทัพไปรบกับชาวลำปาง แพ้นายทิพย์ช้าง พรานป่าชาวบ้าน ปงยางคก (ต้นตระกูล ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ ลำปาง และเชื้อเจ็ดตน) ได้กู้ลำปางพ้นจากอำนาจพม่า หลังจากนั้นปี พ.ศ. ๒๓๐๔ โปมะยุง่วน ยกกองทัพมาตีเชียงใหม่ (ขณะนั้นขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา) ได้แล้วเข้าครองเชียงใหม่ แต่พระยาลำพูนไม่ยอมขึ้นกับพม่าหนีมาอยู่เมืองพิชัย ในเวลาต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๐๖ พม่ายกทัพมาตีลำพูนแตก เจ้าเมืองไชยส้องสุมผู้คนเข้าแย่งตีเมืองคืน แต่มีกำลังน้อยกว่า จึงพ่ายแพ้ถูกฆ่าตาย ปี พ.ศ. ๒๓๐๘ ชาวเมืองลำพูนรวมกำลังเป็นกบฎเข้ารบกับโปมะยุง่วนที่เชียงใหม่ โปมะยุง่วนหนีกลับเมืองอังวะพม่าส่งอะแซหวุ่นกี้มาปราบลำพูนราบคาบในปี พ.ศ. ๒๓๐๙

 

. สมัยกรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชดำรัสว่า ตราบใดที่พม่ายังมีอำนาจครอบงำแผ่นดินลานนาไทยอยู่ การป้องกันประเทศให้เป็นเอกราชย่อมกระทำได้ยาก จึงตกลงพระทัยยกกองทัพขึ้นมาทำศึกชิงนครพิงค์จากพม่าถึง ๒ ครั้ง คือเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔ แต่ไม่สำเร็จ ครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗ ทรงได้รับความร่วมมือจากพญาจ่าบ้านกับเจ้ากาวิละยึดได้นครเชียงใหม่และหัวเมืองอื่นๆ เช่น แพร่ ลำปาง ลำพูน และน่าน โดยให้เจ้าศรีบุญมา อนุชาองค์น้อยเป็นอุปราชของเจ้าบุรีรัตน์      (อนุชาของเจ้ากาวิละ) อพยพชาวลำปาง เชียงใหม่ และเมืองยอง (ชาวเวียงยองที่อยู่เขตตำบลเวียงยองในปัจจุบัน)  มาอยู่ลำพูน ๑,๐๐๐ ครอบครัว

. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

อาณาจักรลานนาไทยซึ่งมีลำพูนรวมอยู่ด้วยได้พ้นจากอำนาจของพม่าโดยสิ้นเชิง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕  โดยกองทัพไทยทำการขับไล่พม่าออกจากหัวเมืองต่างๆ ในลานนาไทย ถึงกระนั้นลำพูนและหัวเมืองลานนาไทยก็ยังคงตกเป็นประเทศราชของกรุงเทพฯ มาทำนองเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา

ต่อมา พ.ศ. ๒๓๕๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งพระยาราชวงศ์คำฝั้น เป็นพระยาลำพูนไชย นับเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์แรกของลำพูน ซึ่งจะจัดลำดับได้ดังนี้

  • เจ้าคำฝั้น พ.ศ. ๒๓๕๗ ถึง พ.ศ. ๒๓๕๘ ครองเมืองได้ ๑ ปี
  • เจ้าบุญมา พ.ศ. ๒๓๕๘ ถึง พ.ศ. ๒๓๗๐ ครองเมืองได้ ๑๒ ปี
  • เจ้าน้อยอินทร์ (อิ่น) พ.ศ. ๒๓๗๐ ถึง พ.ศ. ๒๓๘๑ ครองเมืองได้ ๙ ปี
  • เจ้าน้อยคำตัน พ.ศ. ๒๓๘๑ ถึง พ.ศ. ๒๓๘๔ ครองเมืองได้ ๓ ปี
  • เจ้าน้อยธรรมลังกา พ.ศ. ๒๓๘๔ ถึง พ.ศ. ๒๓๘๖ ครองเมืองได้ ๒ ปี
  • เจ้าน้อยไชยลังการ พ.ศ. ๒๓๘๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๑๔ ครองเมืองได้ ๒๘ ปี
  • เจ้าดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ (เจ้าดาวเรือง) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๑ ครองเมืองได้ ๑๗ ปี
  • เจ้าเหมพินทุไพจิตร (เจ้าคำหยาด) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๘ ครองเมือง ได้ ๗ ปี
  • เจ้าอินทยงยศโชติ (เจ้าน้อยอินทยงยศ) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ครองเมืองได้ ๑๖ ปี
  • พลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๖ ครองเมืองได้ ๓๒ ปี

 

. การจัดรูปแบบการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงประกาศรวมหัวเมืองต่างๆ  ของอาณาจักรลานนาไทยเป็นมณฑลพายัพ เป็นส่วนหนึ่งในผืนแผ่นดินของราชอาณาจักรไทย อาณาจักรลานนาไทยจึงสิ้นสภาพของการเป็นประเทศราช พ้นจากการต้องส่งเครื่องราชบรรณาการคือ ต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน ฯลฯ แล้วก็สูญสิ้นความเป็นอาณาจักรลงด้วยเหมือนกัน เว้นแต่ยังคงมีเจ้าผู้ครองนคร มีฐานันดรศักดิ์เป็น "เจ้า" เช่นเดียวกับในตอนที่เข้ารวมอยู่ในอำนาจของไทยใหม่ๆ ผิดกันแต่เพียงในสมัยที่จัดตั้งเป็นมณฑลขึ้นแล้วทางราชการได้แต่งตั้งข้าหลวงใหญ่ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นสมุหเทศาภิบาลและโดยเฉพาะมณฑลพายัพเปลี่ยนเป็นอุปราช)  มาดำเนินการปกครอง และแต่งตั้งเจ้าเมืองเข้าปฏิบัติราชการแทนเจ้าผู้ครองนคร (ซึ่งเรียกกันว่าเจ้าหลวง) ทั้งนี้ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นต้นมา สำหรับตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครนั้น ถือว่าเป็นตำแหน่งมีเกียรติ และมีเจ้าผู้ครองนครขึ้นทุกๆ จังหวัดในมณฑลพายัพ ยกเว้นจังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่มีเจ้าผู้ครองนครๆ มาสิ้นสุดลง   ภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเสียทั้งหมดไม่แต่งตั้งขึ้นใหม่อีก ในเมื่อเจ้าผู้ครองนครนั้นพิราลัยลง

 

. การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. ๒๔๗๖ มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัด และกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหารเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนอกจากจะแบ่งเขตการปกครองเป็นจังหวัด และอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย

 

เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก

  • การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและ ตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
  • เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
  • เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
  • รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑล เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัด ดังนี้

  • จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล จังหวัดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยระเบียบการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
  • อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่คณะกรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
  • ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการ แผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด

          ต่อมามีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘      ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕        โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น

  • จังหวัด
  • อำเภอ

          จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้งยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของ     ผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น