ประวัติศาสตร์จังหวัดเชียงราย

 

.  สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

ครั้นพ่อขุนเมงราย ประสูติแล้ว และเมื่อเจริญพระชันษาได้ ๒๑ พรรษา ได้เสวยราชย์ครอบครองสมบัติ ที่เมืองหิรัญนครเงินยาง เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๒ พระองค์ให้เจ้าพระยามหานครทั้งหลายไปถวายบังคม หากเจ้าเมืองขัดขืนก็แต่งตั้งกองทัพออกไปปราบปราม ตีได้เมืองมอบ เมืองไร เมืองเชียง-คำ แล้วปลดเจ้าผู้ครองนครเหล่านั้น แต่งตั้งขุนนางของพระองค์ครองเมืองนั้นแทน ต่อมาหัวเมืองทั้งหลาย  เช่น  เมืองเชียงช้าง เป็นต้น  ก็พากันมาอ่อนน้อมเป็นเมืองขึ้น เพราะเกรงเดชานุภาพ  ของพ่อ-ขุนเมงราย

เมื่อพ่อขุนเมงรายได้ทรงรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือในอาณาเขตรอบ ๆ ได้แล้ว จีงดำริจะทรงกรีฑาทัพไปแสดงฝีมือในด้านการยุทธต่อหัวเมืองฝ่ายใต้ลงมา จึงไปรวมพล ณ เมืองลาวกู่เต้า เผอิญช้างมงคล (ช้างพระที่นั่ง) ของพระองค์ได้พลัดหายไป พ่อขุนเมงรายจึงเสด็จติดตามรอยช้างไปจนถึงดอยจอมทอง ริมแม่น้ำกก เห็นภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์เป็นชัยภูมิที่ดี จึงให้สร้างเมืองใหม่ขึ้น โดยก่อปราการโอบเอาดอยจอมทองไว้ในท่ามกลางขนานนามเมืองว่า "เมืองเชียงราย" ใน พ.ศ. ๑๘๐๕ แล้วพ่อขุนเมงรายก็อพยพจากเมืองหิรัญนครเงินยางมาประทับอยู่ ณ เมืองเชียงราย ต่อมาอีก ๓ ปี พ่อขุนเมงรายก็ไปตั้งเมืองใหญ่ขึ้นอีกเมืองหนึ่ง ณ ตำบลเมืองฝาง (เมืองไชยปราการเดิม) ต่อจากนั้นอีกหนึ่งปีก็ยกกองทัพไปตีเมืองผาแดงเชียงของ เมื่อได้เมืองผาแดงเชียงของแล้ว กลับมาประทับ ณ เมืองฝางอีกประมาณ ๖ ปี จึงได้ยกกองทัพไปตีเมืองเชิงแล้วก็ทรงกลับมาประทับเมืองฝางตามเดิม พ่อขุนเมงรายมีพระโอรส ๓ องค์ คือ ๑. เจ้าเครื่อง  ๒. เจ้าราชบุตรคราม  ๓. เจ้าราชบุตรเครือ

เมืองฝางที่พ่อขุนเมงรายประทับอยู่ติดกับแว่นแคว้นลานนา  พ่อค้าวาณิชย์ชาวเมืองหริ-ภุญไชย ไปมาค้าขายที่เมืองฝาง พ่อขุนเมงรายทราบว่าเมืองหริภุญไชยเป็นเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ก็อยากได้ไว้ในอำนาจ ก็ทรงแต่งตั้งให้อ้ายฟ้า เข้าไปเป็นไส้ศึกอยู่ในเมืองหริภุญไชยในปี พ.ศ. ๑๘๑๘ และใน พ.ศ. ๑๘๒๔ พ่อขุนเมงรายก็ยกกองทัพมาตีเอาหริภุญไชยได้ จึงให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ คือขุนเครื่องไปครองเมืองเชียงราย ขุนเครื่องหลงเชื่อถ้อยคำ ขุนใสเรืองคิดการกบฎ พ่อขุนเมงรายจึงให้อ้ายเผียนไปซุ่มดักยิงด้วยหน้าไม้ปืนยา (หน้าไม้อาบยาพิษ) ถูกขุนเครื่องตายแล้วใส่สถาปนาเจ้าราชบุตรคราม โอรสองค์ที่ ๒ สืบราชสมบัติเมืองเชียงรายแทน

ใน พ.ศ. ๑๘๑๙ พ่อขุนเมงรายได้ยกกองทัพมาติดเมืองพะเยา พระยางำเมืองเห็นว่าจะสู้ด้วยกำลังไม่ได้ จึงยกกองทัพออกไปรับปลายแดน ต้อนรับด้วยไมตรี แล้วยกตำบลบ้านปากน้ำให้แก่พ่อขุนเมงราย ซึ่งพระองค์ก็ทรงรับปฏิญาณเป็นมิตร ต่อมาอีก ๔ ปี พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนเมงราย พระยางำเมือง ได้ทรงกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อกัน  โดยทรงเอาโลหิตที่นิ้วพระหัตถ์ผสมกับน้ำสัตย์ เสวยทั้ง ๓ พระองค์ สัญญาว่าจะไม่เบียดเบียนกันตลอดชีวิต

ในปี  พ.ศ. ๑๘๒๙  พ่อขุนเมงรายทรงสร้างเมืองใหม่ชื่อ เวียงกุมกาม (ในท้องที่ อ. สารภี  จ. เชียงใหม่)  เป็นที่ประทับและในปีนั้นได้ยกกองทัพไปตีเมืองหงสาวดี  พวกมอญยอม  อ่อนน้อมโดยดี ได้เครื่องราชบรรณาการและราชธิดามอญมาเป็นบาทบริจาริกา ในปี พ.ศ. ๑๘๓๒ ได้ยกกองทัพไปตีเมืองพุกามของพม่าได้สำเร็จ ได้พาเอาช่างฝีมือพม่ามาทำงานที่อาณาจักรลานนาไทยหลายสาขา ในปี พ.ศ. ๑๘๓๔ ได้พิจารณาสร้างเมืองใหม่ ณ บริเวณเชิงดอยสุเทพ โดยมีพ่อขุนรามคำแหง  และพระยา-งำเมือง  ช่วยวางผังเมืองให้สร้างเมืองเสร็จในปี พ.ศ. ๑๘๓๙  โดยขนานนามว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" แล้วทรงทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมงราย และสถาปนาอาณาจักรลานนาไทย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๑๘๖๐ พ่อขุนเมงรายมหาราชได้เสด็จประพาสตลาดในเมืองเชียงใหม่ ถูกอสนีบาต (ฟ้าผ่า) สวรรคตลง

พระยาไชยสงคราม (เดิมชื่อเจ้าราชบุตรครามได้รับสถาปนาเป็นพระยาไชยสงคราม) เนื่องจากอาสาพระบิดายกทัพไปรบกับกองทัพของพระยาเบิก เจ้าเมืองเขลางค์ จนมีชัยชนะ เมื่อได้จัดการถวายพระเพลิงพระศพพ่อขุนเมงรายมหาราชแล้ว ได้สถาปนาให้พระยาแสนภูราชโอรสองค์ใหญ่พระชนมายุ ๔๑ พรรษา ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. ๑๘๖๑ ส่วนพระยาไชยสงคราม กลับไปประทับที่เมืองเชียงราย พ.ศ. ๑๘๗๐ พระยาไชยสงครามสวรรคตพระยาแสนภู  จึงให้เจ้าคำฟู โอรส-องค์ใหญ่ครองเมืองเชียงใหม่ส่วนพระองค์กลับไปครองเมืองเชียงราย พ.ศ. ๑๘๗๑ พระยาแสนภู  มีพระประสงค์จะสร้างนครอยู่ใหม่ ต้องการชัยภูมิที่ดีจึงให้เสนาอำมาตย์ไปตรวจตราสถานที่ จึงได้เมืองเก่ารอบริมแม่น้ำโขง อันเป็นบริเวณเมืองโบราณของเมืองไชยบุรี จึงได้สร้างเมืองขึ้น ณ สถานที่นั้น โดยเอาแม่น้ำโขงเป็นคูปราการด้านตะวันออกอีก ๓ ด้าน ให้ขุดคูโอบรอบนครไว้ ทำพิธีฝังหลักเมืองเมื่อวันศุกร์ เดือน  ๕  หรือเดือน ๗ เหนือ  ขึ้น ๒ ค่ำ  ปีมะโรง  พ.ศ. ๑๘๗๑  และขนานนามเมืองใหม่ว่า "หิรัญนครชัยบุรีศรีเชียงแสน" ปัจจุบันนี้เรียกว่าเชียงแสน หรือเวียงเก่า

 

.  สมัยกรุงศรีอยุธยา

กษัตริย์ราชวงศ์เมงราย ได้ครอบครองราชสมบัติเมืองเชียงแสนสืบ ๆ มา จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๑๙๐๘ มีพวกฮ่อมารบกวนแต่ก็ถูกตีแตกพ่ายไป พระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้านครเชียงใหม่ได้ตั้งให้เจ้าขุนแสน ลูกพระยาวังพร้าวไปครองเมืองเชียงแสน สถาปนาให้เป็น "พระยาสุวรรณคำล้านนาไชย-สงคราม" ต่อมาสมัยพระยากมลเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน ซึ่งขณะเดียวกันกับพระเจ้าเมกุฎิราช ครองเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. ๒๑๐๑ เชียงใหม่ เชียงราย และเชียงแสน ตลอดจนหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้ตกลงเป็นของยินนอง (บุเรงนอง) เจ้ากรุงหงสาวดีและตกอยู่ในความปกครองพม่านับตั้งแต่นั้นมา

 

.  สมัยกรุงธนบุรี

พระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ยกกองทัพมาปราบปรามขับไล่พม่าทางหัวเมืองฝ่ายเหนือแต่ก็ไม่สำเร็จเด็ดขาด ในราว พ.ศ. ๒๓๔๗ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรีกรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช ยกกองทัพขึ้นไปขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนได้สำเร็จ และให้เผาเมืองเชียงแสนเสียสิ้นกวาดต้อนผู้คนพลเมืองประมาณ ๒๓,๐๐๐ ครอบครัวแบ่งเป็น ๕ ส่วน แต่ละส่วนให้ไปอยู่เมืองเชียงใหม่ ลำปาง น่าน เวียงจันทน์ และอีกส่วนหนึ่งลงมายังกรุงเทพฯ แล้วโปรดฯ ให้ตั้งอยู่ที่สระบุรี ราชบุรี

 

.  สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

พ.ศ. ๒๔๑๒ ในสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เจ้าอุปราชเจ้า-ราชวงศ์นครเชียงใหม่ มีใบบอกข้อราชการไปยังกรุงเทพฯ ว่า พม่า ลื้อ เขิน จากเมืองเชียงตุง ๓๘๑ คน ยกครอบครัวมาอยู่เมืองเชียงแสน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตอบไปให้เจ้าอุปราชว่าให้จัดการแต่งคนไปว่ากล่าวให้พวกพม่า ลื้อ เขิน  เหล่านั้นถอยออกไปจากราชอาณาเขตไทยเสีย แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะพวกนั้นไม่ยอมออกไป พ.ศ. ๒๔๑๗ เจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าครองนครเชียงใหม่ เกณฑ์ไพร่พลจากเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน จำนวนทั้งสิ้น ๔,๕๐๐ คน ยกออกจากเมืองเชียงใหม่ไปเชียงรายและเชียงแสนไล่ต้อนพวกพม่า ลื้อ เขิน เหล่านั้นออกจากเชียงแสนตั้งแต่นั้นมา เชียงแสนก็เป็นเมืองร้าง รัชกาลที่ ๕ จึงได้โปรดให้เจ้าอินต๊ะ บุตรเจ้าบุญมา (เจ้าบุญมาเป็นน้องเจ้ากาวิละ เจ้าครองนครเชียงใหม่) เจ้าผู้ครองนครลำพูนเป็นหัวหน้านำราษฎรเมืองลำพูน เชียงใหม่ ประมาณ ๔,๕๐๐ ครอบครัว  ไปหักร้าง-ถางพงที่เมืองเชียงแสนเดิม เพื่อให้เป็นเมืองใหม่

เจ้าอินต๊ะ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยาราชเดชดำรง ตำแหน่งเจ้าเมืองเชียง-แสน เจ้าเมืองหัวเมืองฝ่ายเหนือมี ๕ ชื่อ ประจำเมืองต่าง ๆ คือ

พระยาประเทศอุดรทิศ                เจ้าเมืองพะเยา

พระยามหิทธิวงศา           เจ้าเมืองฝาง

พระยารัตนาเขตต์            เจ้าเมืองเชียงราย

พระยาราชเดชดำรง                   เจ้าเมืองเชียงแสน

พระยาจิตวงศ์วรยรังษี                เจ้าเมืองเชียงของ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสหเทพ (เสง วิริยศิริ) จัดการปกครองมณฑลพายัพชั้นใน พระยาศรีสหเทพ จึงร่างข้อบังคับสำหรับที่ว่าการเมือง เรียกว่า "เค้าสนาม- หลวง" คือจัดให้มี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่ละแคว้นขึ้นกับเมืองเรียกว่า "เจ้าเมือง" เมืองขึ้นกับบริเวณเรียกว่า "ข้าหลวงบริเวณ" ข้าหลวงบริเวณขึ้นกับ "เค้าสนามหลวง" จัดการเก็บเงินรัชชูปการเรียกว่า     "ค่าแรงแทนเกณฑ์" คนหนึ่งปีละ ๔ รูปี (ต่อมาเรียก ๔ บาท) ในที่สุดวิธีการนี้ได้จัดทำขึ้นเป็นพระราชบัญญัติเรียกว่า "พระราชบัญญัติตั้งมณฑลพายัพ" ตั้งนครเชียงใหม่เป็นที่ตั้งมณฑล

เมืองเชียงแสน สมัยนี้ขึ้นต่อกระทรวงกลาโหม และต่อมา เมื่อประกาศให้ใช้พระราช-บัญญัติปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๒๕๗ จึงมาขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๒๔๐ พระอาราชดำรงถึงแก่กรรมต่อมาเกิดมีพวกไทยใหญ่รวมกันเป็นโจรเข้าปล้นเมือง บุตรพระยาราชเดชดำรงกับญาติและไพร่พลช่วยกันต่อสู้ชนะและปราบปรามได้สำเร็จ

พ.ศ. ๒๔๔๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งนายไชยวงศ์ บุตรพระยาราชเดชดำรงเป็นพระราชเดชดำรง สืบสกุลแทนบิดา และต่อมาย้ายที่ทำการมาตั้งที่ตำบลกาสา ตั้งเป็นอำเภอปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอแม่จัน ส่วนเมืองเชียงแสนเดิมให้เป็นกิ่งอำเภอเชียงแสนหลวงซึ่งในสมัยต่อมาก็ได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเชียงแสน พ.ศ. ๒๔๔๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง         นายคำหมื่น บุตรพระราชเดชดำรง (เจ้าอินต๊ะ) เป็นพระยาราชบุตรขึ้นกับเมืองเชียงรายในสมัยนั้นเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ (ไชย กัลยาณมิตร) เป็นเสนาบดีและองค์มนตรีสมุหเทศาภิบาลพายัพประจำมณฑลพายัพ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๓ หรือ ร.ศ. ๑๒๙ ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ยกเมืองเชียงราย ขึ้นเป็นเมืองเชียงราย อันรวมอยู่ในมณฑลพายัพฯ

 

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล

          หลังจากจัดหน่วยราชการบริหารส่วนกลาง โดยมีกระทรวงมหาดไทย ในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศและควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้วจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็มีการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่ การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่งที่สมเด็จเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น การปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่งที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการในท้องที่ต่าง ๆ ระบบการ      ปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบอบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบเรียบร้อยและเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเพณีปกครองดั้งเดิมของไทย คือ ระบบกินเมือง ให้หมดไป

การปกครองหัวเมืองก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ นั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใดก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากทางคมนาคมไปมาหาสู่ลำบาก หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ ๆ ส่วนหัวเมืองอื่น ๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจอย่างกว้างขวางในสมัยที่สมเด็จเจ้าบรมวงศ์เธอกรม-พระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งเสนาบดี พระองค์ได้จัดให้อำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกัน โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงซึ่งหมายความว่า รัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๗ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงสำเร็จและเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น  จึงจะขอนำคำจำกัดความของ “การเทศาภิบาล” ซึ่งพระยาราชเสนา (ศิริ  เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูล-ฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า

“การเทศาภิบาล คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำอยู่แต่ในราชธานีนั้นออกไปดำเนินการในส่วนภูมิภาคเป็นสื่อกลางระหว่างประชากรของประเทศ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากรัฐบาลที่อยู่ในกรณีให้ได้ใกล้ชิดกับอาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชประเทศชาติด้วย ฯลฯ จึงแบ่งเขตการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับกันดังนี้ คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑลรองถัดไปเป็นเมือง คือ จังหวัดรองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวง  ทบวงกรมของราชธานีและจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญา ความประพฤติดี ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนดังที่เป็นมาแต่ก่อน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อยและรวดเร็วแก่ราชการและกิจธุระของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย”

จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล ดังนี้

การเทศาภิบาล นั้น หมายความรวมว่า เป็น “ระบบ” การปกครองอาณาเขตชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า “การปกครองส่วนภูมิภาค” ส่วน มณฑลเทศาภิบาลนั้น คือ ส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ และยังหมายความอีกว่า ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่าง ๆ  แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดการปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม อันเป็นระบบกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลาง และริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ ก่อนการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกันแต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง ยากที่จะจัดระเบียบการปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร ทรงพระราชดำริว่า ควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว  จึงได้มี   พระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพาและมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตก บัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต

การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาล การจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นต้น-มา และก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ก็ได้จัดตั้งเป็นลำดับดังนี้

พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงานจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีน มณฑลราชบุรี ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่และในตอนปลายนี้ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้ว จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนคร-ชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๓๙  ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล  คือ  มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร

พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมะลายูตะวันออกเป็นมณฑลไทรบุรี และในปีเดียวกันนั้นเอง มณฑลเพชรบูรณ์ตั้งขึ้น พ.ศ. ๒๔๔๒  (ดูการเทศาภิบาล) ร.ศ. ๑๑๘ (๒๐ บท และกฎหมายประจำค่า)

พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่า ๆ ที่เหลืออยู่อีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล

พ.ศ. ๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย

พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานีและมณฑลจันทบุรี มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด

พ.ศ. ๒๔๕๐ ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้

พ.ศ. ๒๔๕๔ ประกาศยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔ (รศ. ๑๒๙)

พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด

พ.ศ. ๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑาพายัพ

 

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้บริหารเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก

๑. การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน  สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง

๒.  เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง

๓.  เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด  จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล   มณฑลรายงานต่อกระทรวงเป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น

๔. รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ  มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิ-ภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้

๑.  จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่

๒.  อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด

๓.  ในฐานะของคณะกรรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด

ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ ได้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น

๑.  จังหวัด

๒.  อำเภอ

จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น คณะกรรมการจังหวัดประกอบด้วยปลัดจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ส่งมาประจำ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการจังหวัดโดยตำแหน่ง และในกรณีที่มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด ให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมเป็นคณะกรรมการจังหวัดด้วย